ฮีตสิบสองคลองสิบสี่

ฮีตสิบสอง–คลองสิบสี่
               ฮีตสิบสอง - คลองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป

               ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำ คือ ฮีต และ สิบสอง ฮีต มาจากคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ สิบสอง มาจาคำว่า สิบสองเดือน ดังนั้นคำว่า ฮีตสิบสอง หมายถึง ประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี

               คลองสิบสี่ บางทีเขียนหรือออกเสียงเป็น คองสิบสี่ เป็นคำและข้อปฏิบัติคู่กับฮีตสิบสอง คลองสิบสี่หรือคองสิบสี่ มาจากคำสองคำ คือ คลองหรือคอง ซึ่งหมายถึง ธรรมเนียมประเพณี ทางหรือแนวทาง และ สิบสี่ หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติ 14 ข้อ ดังนั้นคำว่า คลองสิบสี่ จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ข้าราชการ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติ 14 ข้อ
...........


       ระบบการปกครองของชาวอีสานสมัยเก่า
ระบอบการปกครองบ้านเมือง อันเป็นกติกาควบคุมสังคมสมัยเก่านั้น คนไทยทางภาค กลางหรือทางใต้ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกมาก เพราะยึดถือหลักจากคัมภีร์พระมนูพระธรรมศาสตร์ของสังคมชาวอินเดีย โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่มาจากทางด้านนี้ มักจะโน้มไปในทางจิตนิยม หรือเชื่อในสิ่งที่สมมติกันขึ้นมา เช่น นรก สวรรค์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไม่เคยเห็น
ส่วนระบอบการปกครองของชาวลาวและชาวอีสานสมัยเก่านั้น ยังมีอิทธิพลของความ เชื่อดั้งเดิมตกทอดมาจากทางเหนืออยู่มาก โดยเฉพาะอิทธิพลแบบจีนซึ่งมักจะโน้มไปในทางวัตถุ นิยม หรือเชื่อในสิ่งที่เคยเห็นคุณเห็นโทษมาแล้ว เช่น บิดา มารดา บรรพบุรุษ วีรบุรุษ ผู้ที่ล่วงลับ ตายเป็นผีไปแล้ว ได้รับการยกย่องเชิดชูมากจนมีการเซ่นไหว้บวงสรวงกันหลายระดับ
ถึงแม้คนไทยทางใต้กับทางอีสานจะเป็นศิษย์ของชาวชมพูทวีปด้วยกัน แต่ลักษณะ การปกครองของคนไทยใต้นั้น ค่อนไปในแบบที่ใช้ประมวลกฎหมายคล้ายฝรั่งเศส เช่น การใช้ กฎหมายตราสามดวง ส่วนชาวอีสานนั้นไม่ปรากฏว่ามีประมวลกฎหมาย ข้อบังคับหรือกติกาของ สังคมส่วนใหญ่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายแบบของอังกฤษ เผ่าชนซึ่งอาศัยอยู่ตาม ลุ่มแม่น้ำโขงสมัยเก่าใช้ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นเครื่องมือหรือวิธีการปกครอง บ้านเมือง มากกว่าเผ่าชนทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกประเทศในสมัยเก่านั้นปกครองแบบราชา- ธิปไตย ซึ่งมีโครงสร้างหรือองค์กรฝ่ายปกครองดังนี้


         ตำแหน่งในเมืองหลวง ซึ่งเป็นเอกราชหรือเป็นประเทศราช
ประมุขของรัฐ ...มีฐานะเป็นกษัตริย์ ดังนั้นจึงใช้คำนำหน้าว่า "พระเจ้า"
อุปหลาด (อุปราช) ...เป็นตำแหน่งรองของกษัตริย์
ราชวงศ์ ...เป็นตำแหน่งอันดับสาม
ราชบุตร ...เป็นตำแหน่งอันดับสี่
(ตำแหน่งในอันดับ 2 - 3 - 4 นี้เป็นเชื้อพระวงศ์มีคำนำหน้าว่า "เจ้า" )
เมืองแสน,เมืองจันทน์ ...สองตำแหน่งนี้ส่วนมากทำหน้าที่เกี่ยวกับต่างประเทศหรือต่างเมือง และกิจการสำคัญ เช่น การรักษาความสงบตลอดจนตุลาการ
เมืองขวา,เมืองกลาง,เมืองซ้าย ...สามตำแหน่งนี้ รักษาบัญชีกำกับการสักเลข (เกณฑ์ไพร่พล) ดูแลวัดวาอาราม ออกคำสั่งให้กักขัง - ปล่อยนักโทษ
เมืองคุก,เมืองฮาม ...สองตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่พัสดีเรือนจำ
นาเหนือ,นาใต้ ...สองตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่ฝ่ายพลาธิการ เก็บส่วยภาษีอากร
ซาเนตร,ซานนท์ ...สองตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่เลขานุการของเมืองแสน เมืองจันทน์
ซาบัณฑิต ...ทำหน้าที่อ่านโองการ ท้องตราและประการอื่นๆ รวบรวมบัญชีรายงาน คำนวณศักราชปีเดือน
ตำแหน่งในอันดับ 5 - 16 นี้ ถือว่าเป็นขุนนางชั้นเสนาบดีหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มีคำ นำหน้าว่า "พญา" (พระยา)


       ตำแหน่งในหัวเมืองต่างๆ
มีโครงสร้างหรือองค์การแบบเดียวกับในเมืองหลวง แต่อาจจะเรียกชื่อต่างกันไปบ้าง คือ ประมุขหรือหัวหน้า เรียกว่า เจ้าเมือง อุปหลาด เรียกว่า อุปฮาด ตำแหน่งในอันดับ 1 ถึง 4 ดังกล่าวข้างต้นมักจะเป็นเชื้อสายหรือวงศ์ญาติของเจ้าเมืองเอง ตำแหน่งในอันดับ 5 ถึง 16 เป็น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเมือง เป็นคณะกรรมการเมือง หรือตำแหน่งประจำมีคำนำหน้าว่า "เพีย" (ไม่ใช่เพี้ย) คำว่า พญา คือ เพีย นี้ก็คงมีที่มาจากคำว่า เพียร และ พีระ ตรงกับคำว่า พระยา ของ คนทางใต้
ถ้าหากเมืองใดมีงานมากอาจจะแต่งตั้งตำแหน่งพิเศษเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งจะมีคำนำหน้า ชื่อว่า เพีย ทั้งนั้น เช่น เพียนามเสนา เพียมหาเสนา เพียจันทรยศ เพียซามาตย์ เพียซานุชิต เพีย แก้วดวงดี เพียสุวรรณไมตรี เพียอรรควงศ์ เพียเนตรวงษ์ เพียวุฒิพงษ์ เป็นต้น

       ตำแหน่งในชุมชนเล็ก
ท้าวฝ่าย หรือ นายเส้น เทียบกับตำแหน่งนายอำเภอ
ตาแสง คือ นายแขวง เทียบกับตำแหน่งกำนัน
นายบ้าน หรือ กวนบ้าน เทียบกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน
จ่าบ้าน เป็นผู้ใหญ่บ้าน อาจจะมีหลายคนก็ได้


      ฮีตสิบสอง

     ขนบธรรมเนียมประเพณีของอีสานแตกต่างจากภาคกลางตรงที่ ขนบธรรมเนียม ประเพณีของภาคกลางได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู และคัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ ส่วนขนบ- ธรรมเนียมของอีสานได้รับอิทธิพลจากล้านช้าง เข้าใจว่าวัฒนธรรมล้านช้างได้รับอิทธิพลจาก วัฒนธรรมจีน นั่นคือ การเคารพบรรพบุรุษ ผีปู่ตา ผีแถน ผีฟ้า ผีตาแฮก (ผีนาผีไร่) ขนบธรรมเนียม ประเพณีของภาคกลางจึงมีลักษณะเป็นพราหมณ์มากกว่าพุทธ ฮีตสิบสอง หรือ จารีตประเพณี ประจำสิบสองเดือน ที่สมาชิกในสังคมได้มีโอกาสร่วมชุมนุมกันทำบุญ เป็นประจำเดือนในทุกๆ เดือนของรอบปี "ฮีต" มาจากคำว่า "จารีต" ถือเป็นจรรยาของสังคม ถ้าฝ่าฝืนมีความผิด เรียกว่า ผิดฮีต หมายถึง ผิดจารีต ซึ่งฮีตสิบสองมีรายละเอียดดังนี้



ฮีตที่ ๑ บุญเข้ากรรมหรือบุญเดือนอ้าย
เดือนอ้ายหรือเดือนหนึ่ง หรือบางทีอาจจะเรียกว่าเดือนเจียงก็ได้มีประเพณีการทำบุญประจำเดือน คือ "บุญเข้ากรรม" ได้มีบทผญาที่กล่าวถึงบุญประจำเดือนนี้ว่า...
ตกฤดูเดือนอ้ายปลายลมมาสิหนาวหน่วง
ตกหว่างช่วงสังโฆเจ้าเพิ่นเข้ากรรม
เฮามาพากันค้ำทำบุญตักบาตร
ปริวาสซ่อยหยู้ซูค้ำศาสนา
การเข้ากรรม คือ การอยู่ปริวาสกรรมของภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเรื่องของการอาบัตินี้เป็นเรื่องของพระที่ล่วงละเมิดพระวินัยหรือศีลแล้วเกิดโทษหรือความผิด ทีนี้เมื่อเกิดโทษแล้วก็ต้องมีการลงโทษอันเป็นเรื่องธรรมดาของการอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีขอบเขตของสังคม หรือกฏระเบียบต่างๆ ที่สังคมนั้นๆ บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันรักษาคนหมู่มากหรือสังคมส่วนรวม ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบของสังคม
ในสังคมของพระก็เช่นเดียวกันมีกฏระเบียบคือศีลของพระ หรือ พระวินัยเมื่อเกิดความผิดหรือการล่วงละเมิดศีลเกิดขึ้นก็ได้มีการชำระโทษหนักบ้าง เบาบ้าง ตามสมควรแก่ความผิดที่เกิดขึ้น ที่หนักที่สุดสำหรับพระคือการขาดจากความเป็นพระ หรือการต้องอาบัติปาราชิกนั่นเอง สำหรับการอยู่ปริวาสกรรมเป็นการลงโทษพระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเป็นอาบัติที่มีโทษอย่างกลาง เมื่ออยู่ปริวาสและออกจากปริวาสเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ เป็นภิกขุภาวะที่สมบูรณ์แบบ การอยู่ปริวาสนี้ไม่ใช่เรื่องของการล้างบาป แต่เป็นเรื่องของการลงโทษแก่ผู้ประพฤติผิดกฏระเบียบของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของสังคมทั่วๆ
ไปนอกจากนี้คำว่า เข้ากรรม คนอีสานสมัยก่อน ๆ ใช้คำนี้เรียกผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่แล้วอยู่ไฟเพื่อให้มดลูกแห้งและเข้าอู่เร็วว่า "แม่อยู่กรรม" เป็นที่น่าสันนิฐานได้ว่าการอยู่กรรมตามความหมายที่ได้กล่าวไปข้างต้นก็เป็นเหตุผลอันหนึ่ง และนอกจากนี้ การอยู่กรรม น่าจะมีความหมายอีกลักษณะหนึ่งคือ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่ได้อุตส่าห์เลี้ยงลูกให้เติบโตมาด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะแม่นั้นนอกจากเลี้ยงลูกแล้วยังได้ดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะถ้าหากว่าลูกไม่ได้รับการเลี้ยงดูและการดูแลรักษาอย่างดีจากแม่ตั้งแต่อยู่ในท้อง อาจจะทำให้ลูกเสียชีวิต หรืออาจจะเกิดมามีร่างการไม่สมประกอบ มีความพิกลพิการ เช่นว่า ปากแหว่ง เพดานปากโหว่ แขนด้วน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะอิทธิพลสารเคมีและตัวยาบางชนิด เช่น ยาธาลิโดไมด์ ยาสเตรปโตมัยซิน ยาคอแรมฟินิคอล เป็นต้น และนอกจากนี้แม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่สมัยใหม่ ก็อาจจะทำให้ลูกเป็นโรคสมองเสื่อม แท้งลูกง่าย คลอดก่อนกำหนดได้
โดยอาศัยที่ว่าการอยู่กรรมมีการทรมานตนเช่นว่า มีการนั่งสมาธิเดินจงกรม สวดมนต์ภาวนา ใช้เวลามากกว่าปกติ บางทีมีการอดข้าว อดน้ำถึง ๒-๓ วันก็มี หรือบางทีก็ถูกอาจารย์กรรมฝึกหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้และเข้าใจความยากลำบากของคำว่า กรรม หรืออยู่กรรม ที่แม่ได้อยู่ไฟหรือว่าอยู่กรรมนั้นมี ความยากลำบากเพียงไร เพราะฉะนั้น คนในสมัยก่อนๆ จึงมีความตระหนักและเข้าใจในบุญคุณของพ่อแม่ ไม่มีข่าวปรากฏให้ได้ยินเห็นว่าลูกฆ่าพ่อ ตีแม่ ลูกอกตัญญ แต่กลับเทิดทูนพ่อแม่ในฐานะปูชนียบุคคลในระดับครอบครัวอย่างแท้จริง
ในกิจกรรมของพระในการนี้ พุทธศาสนิกชนผู้หวังบุญกุศลก็ร่วมกันดูแลอุปัฎฐากรักษาพระเจ้าพระสงฆ์ที่เข้าอยู่กรรม บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม เกี่ยวกับการเข้าอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุ เรียกว่า"บุญเข้ากรรม" ส่วนกำหนดการทำบุญดังกล่าวได้กำหนดเอาเดือนอ้าย ส่วนจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ และเพราะมีกำหนดทำกันในระหว่างเดือนอ้ายนี้เอง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"บุญเดือนอ้าย"
สำหรับมูลเหตุแห่งชำระศีลให้บริสุทธิ์นี้ มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า ในสมัยพระกัสสปะพระพุทธเจ้า ได้มีภิกษุรูปหนึ่งพายเรือข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่ง ในระหว่างนั้นแม่น้ำมีกระแสที่ไหลเชี่ยว ท่านได้เอามือจับใบตะใคร้น้ำ เมื่อเรือถูกน้ำพัดไปทำให้ใบตะใคร้น้ำขาด ทานคิดว่าเป็นเรื่องที่มีโทษเล็กน้อย เวลาใกล้ตายคิดอยากแสดงอาบัติ แต่หาภิกษุที่จะรับไม่มี แม้ว่าท่านจะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่านานถึง ๒๐,๐๐๐ ปีก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะบรรลุธรรมชั้นสูงได้ เวลาตายไปแล้วได้ ไปเกิดเป็นพญานาค ชื่อเอรกปัต หรือแปลว่า นาคใบตะใคร้น้ำ คงจะเป็นเพราะเหตุนี้นักปราชญ์โบราณอีสานจึงได้จัดการเข้ากรรมไว้ให้เป็นประเพณีสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้.
เดือนอ้าย เป็นระยะอากาศหนาวชาวบ้านจะจัดสถานที่แล้วนิมนต์พระสงฆ์เข้ากรรม การเข้ากรรมของพระนั้นคือการเข้าอยู่ประพฤติวัตรโดยเคร่งครัดชั่วระยะหนึ่ง ในป่าหรือป่าช้า การอยู่กรรมเรียกตามบาลีว่า"ปริวาส" เพื่อชำระจิตใจที่มัวหมองปลดเปลืองอาบัติ สังฆาทิเสส ซึ่งเป็นอาบัติหนักเป็นที่ 2 รองจากปาราชิก ฝ่ายชาวบ้านก็ได้ทำบุญในโอกาสนั้นด้วย "เถิงเมื่อเดือนเจียงเข้ากลายมาแถมถ่าย ฝูงหมุ่สังฆเจ้าเตรียมเข้าอยู่กรรม"
บุญเข้ากรรม ได้แก่ประเพณีทำบุญเข้ากรรม เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนอ้ายหรือเดือนธันวาคมนั่นเอง โดยมีมูลเหตุ เนื่องจากมีพระภิกษุรูปหนึ่งล่องเรือไปตามแม่น้ำคงคา ได้เอามือไปจับตะไคร้น้ำขาดเป็นอาบัติ ครั้นถึงเวลาใกล้จะตายมองหาภิกษุสักรูปหนึ่งเพื่อจะแสดงอาบัติก็ไม่เห็น ครั้นมรณภาพไปแล้ว จึงเกิดเป็นพญานาคชื่อ เอรถปัต เพราะเหตุนั้นจึงทำให้เกิดมีการเข้ากรรมขึ้นทุกปี เพื่อให้โอกาสแก่ภิกษุอาบัติที่ไม่มีโอกาสแสดงอาบัติได้แสดงและได้อยู่กรรมจนพ้นอาบัติในเดือนนี้
พิธีทำบุญเข้ากรรม จัดทำโดยพระภิกษุ ผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส คือ อาบัติขนาดกลาง ต้องปฏิบัติวุฏฐานวิธี คือ ระเบียบเป็นเครื่องออกอาบัติ โดยให้พระสงฆ์เข้าไปอยู่ในเขตที่จำกัด ทรมานกายและชำระจิตใจให้บริสุทธิ ถือเป็นการแทนคุณมารดาที่ต้องอยู่กรรม(อยู่ไฟ) ด้วยการเข้ากรรมทำอยู่เก้าราตรี คือ สามราตรีแรกเรียกว่า อยู่บริวาส และหกราตรีต่อมาเรียกว่า อยู่มานัต เมื่อครบเก้าราตรีจึงอัพภาน คือ ออกจากกรรม โดยมีพระสงฆ์ 20 รูป เป็นผู้สวดอัพภาน
การสวดระงับอาบัติ ภิกษุที่ออกจากกรรมแล้ว ถือว่าเป็นผู้หมดมลทินบริสุทธิ์ผุดผ่อง ชาวบ้านที่ทำบุญถวายทานแด่พระสงฆ์ระหว่างเข้ากรรมถือได้ว่ากุศลแรง
นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรมฯ ชาวบ้านเลี้ยงผีแกนและผีต่างๆ ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียง เข้ากลายมาแถมถ่าย ฝูงหมู่สังฆเจ้าก็เตรียมเข้าอยู่กรรม มันหาธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็นสิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว

บุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิด ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ทางด้านฆราวาสก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่างๆ


ฮีตที่ ๒ บุญคูณลานหรือบุญเดือนยี่

เดือนยี่หรือเดือนสอง นักปราชญ์โบราณอีสานได้จัดการให้มีประเพณีในการทำบุญประจำเดือนนี้ คือบุญคูณลาน โดยท่านได้กล่าวไว้เป็นผญาว่า...
ฮอดเมื่อเดือนสองอย่าช้าข้าวใหม่ปลามัน
ให้เฮามาโฮมกันแต่งบุญประทายข้าว
เชิญให้มาโฮมเต้าอย่าพากันขี่ถี่
บุญคูณลานตั้งแต่กี้มาถ่อนซ่อยฮักษา

พิธีกรรมวันทำบุญ
    เป็นการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว เมื่อถึงเดือนยี่ หรือเดือนที่ 1 คือเดือนมกราคม ของทุกปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะขนเอามัดรวงข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้ว นั้นไปกองรวมกันไว้ที่ลานเก็บข้าวด้วยมีความเชื่อว่าข้าวนั้นเป็นพืชเลี้ยงชีวิตที่มีเทพารักษา เทพองค์นั้นมีนามว่า "แม่โพสพ" ซึ่งเป็นขวัญข้าวที่เลี้ยงมนุษย์มา การทำบุญมีพระสวดมนต์เย็น ฉันเช้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระฉันเช้าแล้วก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าว และผูกข้อต่อแขนกันในหมู่ชาวบ้านผู้ร่วมพิธี

ชาวบ้านนำข้าวเปลือกมากองรวมกัน
       สำหรับมูลเหตุของเรื่องนี้มีปรากฎในหนังสือธรรมบทว่าในสมัยหนึ่งนางปุณณทาสีได้ทำขนมแป้งจี่(ข้าวจี่) ที่ทำจากรำข้าวอย่างละเอียดถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระอานนท์ นางคิดว่าเมื่อพระพุทธองค์กับพระอานนท์รับแล้วคงไม่ฉันเพราะอาหารที่เราถวายไม่ใช่อาหารที่ดีหรือประณึตอะไร คงจะโยนให้หมู่กาและสุนัขกินเสียกลางทางพระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของนางและเข้าใจในเรื่องที่นางปุณณทาสีคิด จึงได้สั่งให้พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฎฐากได้ปูลาดอาสนะลงแล้วประทับนั่งฉันสุดกำลังและในตอนท้าย หลังการทำภัตตกิจด้วยขนมแป้งจี่เรียบร้อยแล้ว พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้ฟังจนกระทั่งนางปุณณทาสีได้บรรลุโสดาบัน เป็นอริยอุบาสิกาเพราะมีข้าวจี่เป็นมูลเหตุ ด้วยควาเชื่อแบบนี้คนอีสานโบราณจึงได้จัดแต่งให้บุญข้าวจี่ทุกๆปี ไม่ได้ขาดดั่งที่ปรากฎในผญาซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า...
ยามเมื่อถึงเดือนสามได้พากันเอาบุญข้าวจี่
ตั้งหากธรรมเนียมนี้มีมาแท้ก่อนกาล
ได้เฮ็ดกันทุกบ้านทุกถิ่นเอาบุญ
อย่าได้พากันไลเสียฮีตบุญคองเค้า
สถานที่นวดข้าวเรียกว่า"ลาน" การนำข้าวที่นวดแล้วมากองให้สูงขึ้นเรียกว่า "คูณลาน" คนอีสานสมัยก่อนมีอาชีพทำนาเป็นหลักและต้องการจะทำบุญด้วยการบำเพ็ญทาน ก็ได้จัดให้ลานข้าวเป็นสถานที่ทำบุญ การทำบุญในสถานที่ดังกล่าวเรียกว่า"บุญคูณลาน"โดยกำหนดเอาเดือนยี่หรือเดือนสองเป็นเวลาทำเพราะมีกำหนดทำเอา ในเดือนยี่นี้เองจึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า"บุญเดือนยี่"
เดือนยี่ ทำบุญคูณลาน คือเก็บเกี่ยวแล้ว ขนข้าวขึ้นสู่ลาน นวดข้าวแล้ทำข้าวเปลือกให้เป็นกองสูงเหมือนจอมปลวก เรียกว่า "กุ้มเข้า" เหมือนก่อเจดีย์ทรายนั่นเอง แล้วทำพิธีบวงสรวงเจ้าแม่โภสพ นิมนต์มาสวดมนต์ทำบุญลาน บางคนก็เทศน์เรื่องนางโภสพฉลอง บางคนก็มีพิธีสู่ขวัญข้าวก่อนจึงจะขนข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉาง เสร็จแล้วก็ทำพิธีเลี้ยงเจ้าที่หรือตาแฮก และเก็บฟืนไว้เพื่อหุงต้มอาหารต่อไป
"พอเมื่อเดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้"
ลาน ในที่นี้คือ ลานนวดข้าว คือ เอาข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วมากองให้สูงขึ้น กริยาที่ทำให้ข้าวเป็นกองสูงขึ้น เรียกว่า คูณ หลังเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้วก็อยู่ในเดือนยี่หรือเดือนมกราคม ชาวนาก็จะทำบุญคูณลานหรือเรียกบุญเดือนยี่ก็ได้
มูลเหตุที่มีการทำบุญคูณลานนั้นมีว่า ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า มีชายพี่น้องสองคนทำนาร่วมกัน พอข้าวออกรวงเป็นน้ำนม น้องชายอยากทำข้ามธุปกยาสถวายพระสงฆ์ซึ่งมีพระกัสสปพุทธเจ้าเป็นประธาน และได้ชวนพี่ชาย แต่พี่ชายไม่ทำ จึงตกลงแบ่งนากัน เมื่อน้องชายได้กรรมสิทธิ์ในที่นาแล้วก็ทำทานถึง 3 ครั้ง คือ ตอนที่ข้าวเป็นน้ำนม 1 ครั้ง ฟาดข้าว 1 ครั้ง และขนข้าวขึ้นยุ้งอีก 1 ครั้ง ในการถวายทานทุกครั้งปรารถนาจะเป็นพระอรหันต์ ครั้นถึงสมัยพระโคดมก็ได้เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อ โกญทัญญะ ได้ออกบวชเป็นปฐมสาวก แล้วก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ส่วนพี่ชายถวายข้าวในในเพียงครั้งเดียวคือในเวลานวดข้าวเสร็จแล้ว และได้ตั้งปณิธานขอสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล และต่อมาได้เกิดเป็นสุภัททปริพาชก ได้บวชในศาสนาของพระโคดม แต่ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโคดม คงเพียงได้กราบบังคมทูลถามข้อสงสัยในขณะที่พระพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพาน เมื่อได้ฟังดำรัสแล้วก็สำเร็จเป็นพระอนาคา และเป็นอริยสงฆ์องค์สุดท้ายในสมัยพุทธกาล
พิธีทำบุญคูณลาน ในตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ กลางคืนอาจมีการคบงันบ้าง ตอนเข้าถวายภัตตาหารบิณฑบาตร เทศนาฉลองสู่ขวัญลาน เลี้ยงอาหารแก่ผู้ไปร่วมพิธี พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ เอาน้ำมนต์ไประข้าว วัว ควาย เชื่อว่าเข้าของจะอยู่เย็นเป็นสุข ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าจะงอกงามและได้ผลดีในปีต่อไป เมื่อเสร็จพิธีจึงขนข้าวใส่ยุ้งและเชิญขวัญข้าว คือ เชิญเจ้าแม่โพสพไปยังยุ้งข้าว
การทำบุญคูณลานนี้ทำขึ้นเฉพาะนาใครนามัน ทำส่วนตัว แต่ถ้าทำส่วนรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญคุ้ม หรือ บุญกุ้มข้าวใหญ่ คนทั้งหมู่บ้านมาทำบุญร่วมกัน โดยมีการปลูกปะรำขึ้น มีการนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกัน มารับศีลฟังธรรมถวายอาหารพระสงฆ์ อันนี้เรียกว่า บุญคุ้ม แต่ถ้าเป็นบุญคุ้มข้าวใหญ่ก็มีการนำข้าวเปลือกมารวมกัน ทำพิธีเหมือนกัน แต่ต่างกันที่สถานที่ ซึ่งต้องใช้ศาลาโรงธรรมหรือศาลากลางบ้าน
“ฮีตหนึ่งนั้น พอแต่เดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้ อย่าได้ไลคองนี้ มันสิสูญเสียเปล่า ข้าวและของหมู่นั้นสิหายเสี่ยงบ่ยัง จงให้ฟังคองนี้แนวกลอนเฮาบอก อย่าเอาใด ดอกแท้เข็นฮ้ายแล่นเถิงเจ้าเอย”

หลังการเก็บเกี่ยวจะทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน นิมนต์พระสวดมนต์เย็น เพื่อเป็น มงคลแก่ข้าวเปลือก รุ่งเช้าเมื่อพระฉันเช้าแล้วจะทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านจะเตรียม เก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน ดังคำโบราณว่า .... เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว ให้นิมนต์พระสงฆ์ องค์เจ้ามาตั้งสวดมุงคูณเอาบุญคูณข้าว เตรียมเข้าป่าหาไม้เฮ็ดหลัว เฮ็ดฟืนไว้นั่นก่อน อย่าได้ หลงลืมถิ่น ฮีตของเก่าเฮาเดอ...


ฮีตที่ ๓ บุญข้าวจี่หรือบุญเดือนสาม

         ในวันเพ็ญเดือนสามให้ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ขนาดเท่ากำปั้นแล้วใช้ไม้ไผ่ที่เหลากลมๆ เสียบตรงกลาง ตามยาวของปั้นข้าวเหนียวแล้วนำไปปิ้งพอเกรียมแล้วชุบด้วยไข่ ย่างไฟจนสุก แล้วใส่ภาชนะไปตั้งใว้ในศาลาวัด นิมนต์พระมาให้ศีลให้พร แล้วเอาข้าวจี่ใส่บาตรนำถวายแด่พระสงฆ์ พร้อมด้วยอาหารอื่นๆ เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการแสดงพระธรรมเทศนา ตอนเย็นมีการเวียนเทียนมาฆบูชาฟังเทศน์ที่วัด
มูลเหตุที่ทำ         เนื่องจากในเดือนสาม อากาศของภูมิภาคอีสาน กำลังอยู่ในฤดูหนาว ในตอนเช้าผู้คนจะใช้ฟืนก่อไฟผิงแก้หนาวเมื่อฟืนถูกไฟเผาเป็นถ่าน ชาวบ้านจะเอาข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลม โรยเกลือวางไว้บนเตาไฟ เราเรียกว่า ข้าวจี่
        มีเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางปุณณทาสี เป็นคนยากจนต้องไปเป็นทาสีรับใช้ของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งเศรษฐีให้นางไปซ้อมข้าว นางซ้อมตลอดวันก็ไม่หมด ตกตอนเย็นนางก็จุดไฟซ้อมต่อไป ได้รับความเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก พอถึงตอนเช้ามานางก็เอารำทำเป็นแป้งจี่ เผาไฟให้สุกแล้วใส่ไว้ในผ้าของตนเดินไปตักน้ำปรารถนาจะบริโภคด้วยตนเอง ครั้นถึงกลางทางได้พบพระศาสดาเกิดความเลื่อมใส คิดว่าเราเป็นคนยากจนในชาตินี้ ก็เพราะมิได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อนและชาตินี้เราก็ยังไม่เคยทำบุญเลย เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วนางก็น้อมเอาข้าวแป้งจี่นั้นเข้าไปถวายแด่พระศาสดา พระองค์ทรงรับแล้ว และนางคิดอีกว่าพระศาสดาคงไม่เสวย พราะอาหารเศร้าหมอง เมื่อพระศาสดาทรงทราบวารจิตของนางเช่นนั้น พระองค์จึงประทับเสวยต่อหน้าของนาง ครั้นเสวยเสร็จแล้วก็ตรัสอนุโมทนากถาโปรดนางจนสำเร็จโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา กาลํ กตฺวา ครั้นนางทำกาลกิริยาแล้วก็ได้ไปเกิดบนดาวดึงส์สวรรค์เสวยทิพย์สมบัติ อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภา มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นยศบริวาร ดังนั้น ชาวนาเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจึงพากันทำบุญข้าวจี่ เพราะถือว่าการถวายข้าวจี่มีอานิสงฆ์มาก


พิธีกรรม        พอถึงวันทำบุญข้าวจี่ซึ่งมักจะเป็นวันเพ็ญเดือนสาม ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจัดเตรียมข้าวจี่ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มารวมกันที่ศาลาโรงธรรมญาติโยมจะมาพร้อมกันแล้วอาราธนาศีล ว่าคำถวายข้าวจี่เส็จแล้วเอาข้าวจี่ไปใส่บาตร พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว ญาติโยมยกอาหารคาวหวานไปถวายพระฉันเสร็จแล้วอนุมโทนาเป็นการเสร็จพิธีถวายข้าวจี่ ในปัจจุบันชาวบ้านนอกจากจะทำบุญข้าวจี่แล้วยังทำบุญมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง วันมาฆบูลานี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพระทูทธศาสนา 4 ประการคือ
        1. เป็นวันเพ็ญเดือนสาม ดวงจันทร์เสยวมาฆฤกษ์
        2. พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันที่เวฬุวันมหาวิหารโดยมิได้นัดหมายกันล่วงหน้า
        3. พระสงฆ์ที่มาประชุมครั้งนี้นล้วนเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา (ภิกษุที่พระพุทธเจ้าบวชให้)
        4. ท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์
คำถวายข้าวจี่ (สำนวนของมหาอานิสงฆ์ 108 กัณฑ์ โดย จอม บุญตาเพศ ป.)
        นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสัมฺพุทฺธสฺส ( 3 หน)
        สทา ชาครมานานํ อโหรตฺตานุสิกฺขินํ
        นิพฺพานํ อธิมุตฺตานํ อฎฐํ คจฉนฺติ อาสวาติ ฯ
วันมาฆบูชา        วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพุทธศานาคือ เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงกระทำวิสุทธิปาฎิโมกข์ ทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ในท่ามกลางพระอรหันต์ 1250 องค์
       นับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะในวันเพ็ญเดือน 6 ต่อจากนั้นพระองค์ได้เสด็จเทศนาสั่งสอนผู้ควรสั่งสอนเป็นลำดับมา ครั้งแรกทรงเทศนาโปรดเบญจะวคีย์ทั้ง 5 ให้มีความเชื่อความเลื่อมใสแล้วขอบวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ต่อมาเมื่อมีพระอรหันตสาวกเกิดขึ้นในโลกรวม 60 องค์ พระองค์ก็ส่งไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาเสนานิคม มุ่งจะแสดงธรรมแก่ชฏิล 1,003 คน และชฏิลเหล่านั้นยอมรับนับถือ บวชเป็นภิกษุ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด แล้วเสด็จเข้าสู่พระนครราชคฤห์พร้อมด้วยพระอรหันต์อดีตชฏิล
       พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ จึงพร้อมด้วยราชบริวารออกไปเฝ้า ณ พระราชเวฬุวัน ทรงสดับพระธรรมเทศนา มีพระทัยเลื่อมใส ทรงถวายพระราชเวฬุวันเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาพร้อมด้วยพระสงฆ์ พระเวฬุวันนี้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาเรียกว่า เวฬุวันมหาวิหาร หรือวัดเวฬุวันในสมัยที่ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันนั้น มีนักบวชอีกพวกหนึ่งที่เรียกว่าปริพาชก จำนวน 250 คน มีหัวหน้าอุปติสสะ และโกลิตะเข้าไปเฝ้ามีความเลื่อมใส บวชเป็นภิกษุและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
       วันที่พระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น ตรงกับวันมาฆบุรณมี คือเดือน 3 กลางเดือน วันเพ็ญเดือน 3 นี้ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเป็นวันสำคัญ เป็นวันลอยบาปคือวันศิวราตรี วันแห่งพระศิวะหรือพระอิศวร เมื่อถึงวันนั้น เวลากลางคืนพากันลงอาบน้ำดำเกล้าสะสนานให้ตนบริสุทธิ์สะอาดด้วยประการทั้งปวง ถือว่าได้ลอยปาปไปตามกระแสน้ำแล้วหมดบาปไปคราวหนึ่ง ถึงปีก็ทำใหม่ เป็นการกระทำประจำปี
      พระอรหันต์ 1000 รูป อดีตชฏิล และพระอรหันต์อีก 250 รูปอดีตปริพาชก ยังอยู่ในสำนักของพระองค์ ณ พระเวฬุวันมหาวิหารนั้น ต่างปรารภร่วมกันว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์คือเป็นวันลอยปาป พระบรมศาสดาของเราควรจะทำอย่างไรบ้าง จึงพร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดาในที่เฉพาะพระพักตร์ โดยที่พระองค์มิได้รับสั่งให้เข้าเฝ้า พระองค์ทรงถือเอาเหตุนั้น จึงทรงกระทำปาริสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาฎิโมกข์ในท่ามกลางพระอรหัจต์ 1250 รูป เรียกวันมหาสันนิบาตประชุมใหญ่นั้นว่า จาตุรงคสันนิบาต การประชุมประกอบด้วยองค์ 4 คือ
       1. พระสงฆ์ 1250 รูปนั้น ล้วนบวชเฉพาะจากพระองค์ ที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
       2. พระสงฆ์ 1250 รูปนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
       3. พระอรหันต์ 1250 รูปมาเฝ้าพระองค์ โดยพระองค์มิได้รับสั่งให้เฝ้า
       4. วันนั้นเป็นวันมาฆบุรณมี คือเดือน 3 กลางเดือน
        พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งจัดว่าเป็นวันประดิษฐานพระพุทธศาสนา คือวางหลักแห่งการปฏิบัติ วางหลักแห่งการประกาศพระศาสนา โอวาทปาฏิโมกข์นั้นไม่ใช่ภิกขุปาฏิโมกข์ ดังที่ภิกษุสวดกันทุกวันนี้ โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นโอวาทคำสั่งสอนที่วางหลักแห่งความประพฤติเป็นส่วนธรรมะ มิใช่วินัย
       โอวาทปาฏิโมกข์มีพระบาลี ดังที่ยกขึ้นเป็นหัวข้อเทศนาว่า "ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา" แปลว่า ขันติความอดใจ คือความอดทนเป็น   ตบะคือเป็นธรรมเผาผลาญกิเลสอย่างยิ่ง หมายความว่า คนเรายังมีกิเลสทำใจให้เร่าร้อน ถ้าไม่เผากิเลสจะทำให้เร่าร้อนยิ่งขึ้น การเผากิเลสนั้นจะเผาด้วยไฟเทียน ด้วยไฟฟ้าหรือไฟอะไรๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ต้องเผาด้วนขันติคือความอดทนเมื่อมีความอดทนแล้ว ก็สามารถเผาผลาญกิเลสตัณหาให้สงบไปหรือให้หมดไป หรือแม้การทำงาน การประกาศพระศาสนาก็ต้องอาศัยความอดทน ถ้าไม่มีน้ำอดน้ำทนทำไม่ได้ เพราะจะต้องประสบกับอุปสรรคต่างๆเช่นบุคคลในลัทธิอื่นบ้าง ศานาอื่นซึ่งมีอยู่ก่อน ซึ่งฝังอยู่ในใจของชนทั้งหลายบ้าง ถ้ามีความอดทนแล้ว ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรค บรรลุถึงเป้าหมายได้แน่โดยมิต้องสงสัย ลังเลใจแต่อย่างใด
       และว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา" แปลว่า ท่านผู้รู้ทั้งหลายสรรเสริญว่าพระนิพพานเป็นธรรมสูงยิ่ง หมายความว่า นิพพานะ คือความดับกิเลสได้หมดสิ้น กิเลสที่ดับได้แล้วทุกอย่างไม่กลับฟื้นขึ้นอีก ถ้าจะเปรียบด้วยคนตายก็คือตายแน่ไม่ใช่สลบ ซึ่งไม่มีโอกาสจะฟื้นขึ้นมาอีก ผู้ถึงนิพพานไม่เกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป ที่เรียกว่าไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ดับกิเลส เป็นที่สุดแห่งทุกข์ เป็นที่สุดแห่งการปฏิบัติ ผลแห่งการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาซึ่งสูงที่สุดคือนิพพาน
       และว่า "น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต" ผู้ที่ได้ชื่อว่าบรรพชิตและสมณะนั้น ต้องสงบระงับไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน จึงชื่อว่าเป็นสมณะ ถึงจะบวชและปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ถ้ายังเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนอยู่ ก็ไม่ชื่อว่าสมณะ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
         และว่า   สพฺพปาปสฺส อกรณํ
                      การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
                      กุสลสฺสูปสมฺปทา
                      การอบรมกุศลคือคุณความดีทั้งปวง
                      สจิตฺตปริโยทปนํ
                      ความทำจิตของตนให้ผ่องใส
                      เอตํ พุทฺธานสาสนํ                  ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา

        และพระองค์ตรัสต่อไปว่า "บรรพชิตต้องไม่พูดกระทบกระทั่งผู้อื่นให้เกิดความโกรธ ความเกลียดชังเดือดร้อน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายหรือด้วยประการใดๆ เว้นข้อที่พระองค์ห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต บริโภคอาหารเพื่อจะยังอัตภาพให้เป็นไปเพียงเพื่อจะได้อยู่ปฏิบัติกิจให้ผ่านไปโดยชอบ ยินดีในเสนาสนะคือที่อยู่อาศัยที่สงัด พยายามอบรมจิตของตนให้สงบระงับปราศจากกิเลสไปตามกำลังของความปฏิบัติ" นี้เป็นคำสอนในพุทธศาสนา และปฏิปทาแห่งบรรพชิตในพุทธศาสนา
       ในวันมาฆบูชานี้ ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรในตอนเช้าสมาทานศีล ฟังพระธรรมเทศนา และตอนกลางคืนจะมีการนำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียนที่วัด
คำบูชาพระวันมาฆบูชา
        อชฺชยํ มาฆปุณฺณมี สมฺปตฺตา มาฆนกฺขนฺเตน ปุณฺณจนฺโท ยุตฺโต ตถาคโต อรหฺ สมฺมาสมฺพุทฺโธ จาตุรงฺคิเก สาวกสนฺนิปาเต โอวาทปาติโมกฺขํ อุทฺทิสิ ตทาหิ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ สพฺเพเต เอหิภิกฺขุกา สพฺเพปิ เต อนามนฺติตาว ภควโต สนฺติกํ อาคตา เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป
        มาฆปุณฺณมิยํ วฑฺฒมานกฉายาย ตสฺมิญฺจิ สนฺนิปาเต ภควา วิสุทฺธุโปสถํ อกาสิ อยํ อมฺหากํ ภควโต เอโกเยว สาวกสันฺนิปาโต อโหสิ จาตุรงฺคิโก อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ มยนฺทานิ อิมํ มาฆปุณฺณมี นกฺขตฺตสมยํ ตกฺกาลสทิสํ สมฺปตุตา จิรปรินิพฺพุฒมฺปิ ตํ ภควนฺตํ อนุสฺสรมานา อิมสฺมึ ตสฺส ภควโต สกฺขิภูเต เจติเย อิเมหิ ทีปธูปปุปฺผาทิสกฺกาเรหิ ตํ ภควนฺตํ ตานิ จ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ อภิปูชยาม สาธุ โน ภนฺเต ภควา สาวกสงฺโฆ สุจิรปรินิพฺพฺโตปิ คุเณหิ ธรมาโน อิเม สกฺกาเร ทุคฺคตปณฺณาการภูเต ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย



ฮีตที่ ๔ บุญเผวสหรือบุญเดือนสี่ 

                        

 เป็นบุญที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของพระเวสสันดร เป็นบุญที่จัดทำขึ้นในเดือนสี่ เป็นประจำของทุกปี เมื่อฟังแล้วจงนำเอาไปประพฤติ ปฏิบัติตาม จะได้เกิดประสบพบศาสนาของตน เมื่อพระมาลัยเถระกลับมาถึงแล้วก็แจ้งเรื่องให้หมู่มนุษย์ทั้งหลายทราบ แล้วหมู่มนุษย์ปราถนาจะพบศาสนา พระศรีอริยเมตตรัย จึงพากันทำบุญฟังเทศน์ บุญพระเหวด มาจนถึงทุกวันนี้
พิธีกรรม
        วัดใดจะทำบุญพระเวส พระสงฆ์จะต้องจัดแบ่งหนังสือออกเป็นกัณฑ์กะให้พอดีกับพระเณรในวัด และจำนวนพระที่นิมนต์มาจากวัดต่างๆ ปลูกปะรำไว้สำหรับพระเณร หรือญาติโยมบ้านอื่นที่มาทำบุญจะได้นั่ง ประดับตกแต่งศาลาโรงธรรมด้วยดอกไม้และประดับด้วยพวงมาลัยกับธงทิว และจัดหาดอกไม้, เทียน พันธูปไว้บูชา
คาถาพัน  ขึงด้ายสายสิญจน์และตั้งหม้อน้ำมนต์ พอวันรวม หรือวันเริ่ม (วันโฮม) พระภิกษุ สามเณรและญาติโยมทั้งบ้านเราและบ้านอื่นมารวมกัน พอถึงบ่าย 3 โมงเศษ ตีกลองโฮม (หมายถึงตีกลองเรียกให้มาประชุมรวมกัน) เจ้าบ้านจะแต่งผู้ที่มีความรู้และฉลาดให้ไปนิมนต์พระอุปคุต แล้วสมมติผู้ที่เป็นที่เคารพและเป็นที่นับถือ ให้แต่งตัวเป็นพระเวสสันดรและนางมัทรีไปอยู่ในป่า แล้วก็จะจัดขบวนแห่ออกไปเชื้อเชิญพระเวสเข้ามาเมือง แต่บางแห่งก็จะแห่ต้นไม้ที่ประดับประดาด้วยเงินและสิ่งของต่างๆ เช่น ไม้ขีดไฟ เทียน และสิ่งอื่นๆ อีกหลายอย่าง แล้วก็จัดขบวนแห่ซึ่งมีฆ้อง กลองยาวเป็นดนตรีแห่นำเข้าสู่วัด เมื่อถึงวัดก็นิมนต์พระนักเทศน์เสียงดีขึ้นประรำที่จัดไว้ให้พระท่านนักเทศน์ การแห่บุญพระเวสหรือบุญมหาชาตินี้โดยมากจะแห่ในเวลาย่ำค่ำเป็นต้นไป และแห่กันหลายๆ ขบวนแล้วแต่ผู้ที่จะทำบุญสุนทาน ตามชนบทภาคอีสานจะเรียกในการแห่นี้ว่า "แห่กัณฑ์หลอน" จะมีทำกันในเดือนสี่ ซึ่งเรียกว่าบุญเดือน 4
 
"แห่พระเหวดเข้าเมือง"
         หลังจากเชิญพระอุปคุตเสร็จแล้วก็จะถึงพิธีแห่พระเหวดเข้าเมือง ซึ่งจะเป็นเวลาประมาณ 16.00 - 17.00 น. ของวันโฮมนั่นเอง
จุดเริ่มต้นแห่
        มักจะเป็นบริเวณป่าใกล้ หมู่บ้าน เพราะมีความเชื่อและสมมุติกันว่า ตอนนั้นพระเหวด (หรือพระเวสสันดร) อยู่ที่ป่าหิมพานต์พร้อมทั้งนางมัดซี(พระนางมัทรี) ชาวบ้านชาวเมืองเห็นคุณความดีจึงพร้อมใจกันมาแห่พระเหวดให้กลับเข้าไปครองเมืองดังเดิม หลังจากที่ถูกขับออกจากเมืองนานถึง 7 ปี
"พิธีกรรมก่อนแห่"่
       พอถึงเวลาจะเริ่มแห่ ผู้เป็นประธานจะพาญาติโยม (ที่มาพร้อมกันในบริเวณชายป่าที่ถูกสมมุติให้เป็นป่าหิมพานต์) ไหว้พระรับศีลและฟังเทศน์ การเทศน์ ณ จุดนี้เป็นการเทศน์เชิญพระเหวดเข้าเมือง เมื่อฟังเทศน์จบแล้วก็จะลั่นฆ้องแล้วจัดขบวนแห่ดังนี้ อันดับแรกเป็นคานหามหรือเสลี่ยงสำหรับวางพระพุทธรูป (ซึ่งสมมุติว่าเป็นพระเวสสันดร) ตามด้วยเสลี่ยงหามพระภิกษุที่เป็นเจ้าอธิการวัดของหมู่บ้าน จากนั้นก็เป็นคนหามฆ้องตามด้วยขบวนกลองยาว ส่วนญาติโยมที่มาร่วมชบวนแห่พะเหวดก็จะพากันถือดอกไม้นานาชนิดซึ่งได้จากป่า (ส่วนมากเป็นดอกพะยอมเพราะกลิ่นหอมดี) และมืออีกข้างหนึ่งจะช่วยกันถือผ้าพะเหวด ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 50 วา ขึ้นไป และที่ผ้าพระเหวดก็จะมีรูปวาดเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดกตั้งแต่กัณฑ์ที่ 1 ถึงกัณฑ์ที่ 13 ขบวนแห่พระเหวดเข้าเมืองจะเดินผ่านหมู่บ้านเข้าสู่วัดแล้วแห่เวียนขวา รอบศาลาโรงธรรมที่จะเป็นสถานที่ใช้ในการเทศน์สามรอบ จากนั้นจึงนำพระพุทธรูปขึ้นตั้งไว้ในศาลาโรงธรรม ญาติโยมที่เก็บดอกไม้มาจากป่าเช่น ดอกพะยอม (ดอกกันเกรา)ดอกจิก (ดอกเต็ง) ดอดฮัง(ดอกรัง) ดอกจาน ฯลฯ ก็จะนำดอกไม้ไปว่างไว้ข้างๆ ธรรมาสน์ที่จะใช้เทศน์ แล้วขึงผ้าพะเหวดรอบศาลาโรงธรรม
"เทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน"
       หลังจากแห่พระเหวดเข้าเมืองแล้วญาติโยมจะพากันกลับบ้านเรือนของตน รับประทานอาหารเย็นพร้อมทั้งเลี้ยงดูญาติพี่น้องที่เดินทางมาร่วมทำบุญ เวลาประมาณหนึ่งทุ่มเศษ ๆ ทางวัดจะตี "กลองโฮม" เป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าถึงเวลา "ลงวัด" ครั้นหลังจากเวลารับประทานอาหารมื้อเย็นเรียบร้อยแล้ว ญาติโยมจะพากันมารวมกันที่ศาลาโรงธรรมซึ่งจะเป็นเวลาประมาณสองทุ่ม (20.00 น.) การมารวมกันครั้งนี้เรียกว่า "ลงวัด" คือมารวมกันที่วัดเพื่อร่วมกันทำพิธีไหว้พระสวดมนต์ พระภิกษุสงฆ์สวดพระปริตมงคล หลังจากสวดมนต์จบก็จะมีการ "เทศน์มาไลยหมื่นมาไลยแสน (ซึ่งเป็นการเทศน์ที่กล่าวถึงประวัติในชาติปางก่อนของพระเวสสันดร) หลังจากฟังเทศน์มาไลยหมื่นมาไลยแสนจบก็จะมีมหรสพ เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ ให้ชมจนถึงสว่าง

   

"แห่ข้าวพันก้อน" 
       เวลาประมาณ 04.00 น. (ตีสี่) ของวันบุญพะเหวด (เทศน์มหาชาติ) ญาติโยมคนเฒ่าคนแก่จะนำปั้นข้าวเหนียวก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือหรือจะขนาดเท่านิ้วกอ้ยก็ได้จำนวนหนึ่งพันก้อน ซึ่งเท่ากับหนึ่งพันพระคาถาในเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก ใส่ถาดจากบ้านเรือนของตนออกแห่จากหมู่บ้านเข้ามาที่ศาลาโรงธรรม เวียนรอบศาลาโรงธธรรมสามรอบ แล้วจึงนำข้าวพันก้อนเหล่านั้นไปใส่ไว้ในกรวยไม้ไผ่ที่หลักทุงไซยทั้งแปดทิศและใส่ไว้ในตะกร้าที่วางอยู่บนศาลา ตามจุดมี ทุงโซ และเสดกะสัดเมื่อแห่ข้าวพันก้อนเสร็จแล้วก็จะมีการเทศน์สังกาศ คือการเทศน์บอกปีศักราช เมื่อจบสังกาศก็จะหยุดพักให้ญาติโยมกลับไปบ้านเรือนของตน นำข้าวปลาอาหารมาใส่บาตรจังหัน หลังจากพระฉันจังหันเสร็จแล้วจึงจะเริ่มเทศน์พะเหวดโดยเริ่มจากกัณฑ์ทศพร ไปจนถึงนครกัณฑ์รวมสิบสามกัณฑ์ ซึ่งจะใช้เวลาตลอดทั้งวันจนถึงค่ำ และมีความเชื่อกันว่าหากใครฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบ ผู้นั้นจะได้รับอานิสงฆ์มาก 
"แห่กัณฑ์หลอน"
       คำ "หลอน" เป็นภาษาถิ่นไทอีสาน แปลว่า "แอบมาหา หรือลักลอบไปหา โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า" 
กัณฑ์หลอน คือกัณฑ์เทศน์พิเศษนอกเหนือจากกัณฑ์เทศน์ใน "บุนพะเหวด" ซึ่งมีเพียง 13 กัณฑ์ และแต่ละกัณฑ์จะมีเจ้าภาพเป็นเจ้าของกัณฑ์นั้นๆ อยู่แล้ว กัณฑ์หลอน จึงเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ไม่ได้จองไว้ก่อน แต่จะเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ชาวบ้านแต่ละคุ้มร่วมกันจัดขึ้นในวันที่มีการเทศน์พะเหวดนั่นเอง โดยผู้มีศรัทธาจะตั้งกัณฑ์หลอนไว้ที่บ้านของตนแล้วบอกกล่าวพี่น้องที่มีบ้านเรือนอยู่ในคุ้มนั้นๆ จัดหาปัจจัยไทยทานต่างๆ เท่าทีมีจิตศรัทธาหาได้ ซึ่งส่วนมากจะใช้กระบุงหรือกระจาดไม้ไผ่ หรืออาจจะเป็นถังน้ำพลาสติก ใส่ข้าวสารลงไปประมาณครึ่งถึง แล้วหาต้นกล้วยขนาดสูงประมาณ 1 เมตรตั้งไว้กลางกระบุง กระจาด หรือถังน้ำนั้น แล้วนำเงินชนิดต่างๆ เช่นใบละ 10,20,50,100,500 หรือ 1,000 บาท คีบด้วยไม้ไผ่ แล้วนำไปเสียบไว้ที่ลำต้นของต้นกล้วย ส่วนที่โคนต้นกล้วยนั้นนอกจากข้าวสารแล้วอาจจะนำปัจจัยอื่นๆ เช่น ธูปเทียน ผงซักฟอก มะพร้าวอ่อน กล้วยสุก ยาสามัญประจำบ้าน ฯลฯ ใส่ไว้เป็นเครื่องไทยทาน 
        เมื่อได้เวลานัดหมาย คณะผู้มีศรัทธาจะพากันแห่กัณฑ์หลอนจากที่ตั้งโดยมีกลองยาว แคน ฉิ่ง ฉาบ ฯลฯ นำขบวน ผู้มีศรัทธาบางคนก็จะพากันฟ้อนรำไปตามจังหวะเสียงกลองอย่างสนุกสนานพอถึงวัด จะแห่รอบศาลาโรงธรรมโดยเวียนขวา 3 รอบ แล้วนำกัณฑ์หลอนขึ้นบนศาลาถวายแด่ภิกษุรูปที่กำลังเทศน์อยู่ขณะนั้น
กัณฑ์หลอน สามารถนำไปทอดได้ตลอดทั้งวันขณะที่มีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งอาจจะถึงมืดค่ำก็ได้ และอาจจะมีกัณฑ์หลอนจากหมู่บ้านอื่นแห่มาสมทบอีกก็ได้โดยไม่จำกัดจำนวน ถือเป็นการสร้างความสามัคคีของคนระหว่างหมู่บ้าน ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน
กัณฑ์จอบ เจ้าศรัทธาทำกัณฑ์จอบจะไปดูที่วัดก่อน หากพระองค์ใดที่เป็นที่คุ้ยเคยและเป็นที่เคารพของเจ้าภาพกัณฑ์จอบนั้น  ก็จะแห่กัณฑ์นั้นเข้าวัดให้ตรงกับเวลาที่พระภิกษุสงฆ์ องค์ที่ตนชอบพอและเคารพนั้นกำลังเทศน์ กิริยาเช่นนี้เรียกว่า กัณฑ์จอบ





ฮีตที่ ๕ บุญสรงน้ำหรือบุญเดือนห้า
บุญสงกรานต์  ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 มีพิธีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระ และรดน้ำผู้ใหญ่ โดยการนำเอาน้ำอบ น้ำหอมไปสรงพระพุทธรูป พระภิกษุสงฆ์ และรดน้ำคนเฒ่า คนแก่ ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา และมารดา ที่เราเคารพ นับถือ
มูลเหตุที่ทำ เพื่อขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข จะปรารถนาสิ่งใดขอให้ได้สมหวัง เช่น ขอน้ำขอฝน ขอให้ตกต้องตามฤดูกาล และให้ข้าว น้ำ ปลา อุดมสมบูรณ์ และในเดือนนี้ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอีสาน โดยถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันเริ่มต้นทำบุญ
     มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อันเป็นอารามที่อนาถปิณฑิกมหาเศรษฐีสร้างถวาย วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล บรมกษัตริย์ได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง 

  ทำบุญตักบาตรเช้าของวันมหาสงกรานต์

 การสรงน้ำพระพุทธรูปที่แห่ไปตามถนน
จากนั้นได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "พระสุริยเทพบุตรเสด็จอยู่ในวิมานสักกี่วัน พระพุทธเจ้าข้า" ดังนี้ฯ ตรัสว่า "ขอถวายพระพร ตามปกติพระสุรยเทพบุตรเสด็จอยู่ในวิมานได้เพียง 29 วันเท่านั้น ครั้นล่วงเข้าวันที่ 30 คือครบ 1 เดือนแล้ว จึงย้ายราศีขึ้นไปเดินในเบื้องบน ย้ายราศีออกจากเหลี่ยมพระสุเมรุ พระรัศมีก็แผดกล้าร้อนยิ่งนัก สัตว์โลกเราเรียกกันว่าสงกรานต์" ดังนี้ฯ ทูลถามว่า "พวกมนุษย์พากันเกิดโรคาพาธเจ็บไข้เป็นอันมาก บางพวกเกิดโรคปัจจุบันขึ้นเพียงครู่เดียวก็ตายทันที บางพวกอดอยากโภชนาหารล้มตายไปก็มี บางปีเกิดข้าวยากหมากแพงก็มี บางทีฝนตกแต่เดือนแรกน้ำมากแต่ต้นปี ครั้นถึงปลายปีน้ำก็แห้งลดน้อยไปก็มี บางทีก็เกิดไฟไหม้บ้านก็มี

บางทีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คิดทรยศต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็มี หญิงมีครรภ์คลอดบุตรแล้วมีอันล้มตายไปก็มี เป็นดังนี้ด้วยเหตุผลประการใด พระพุทธเจ้าข้า" ตรัสตอบว่า "ขอถวายพระพร ในเวลาที่สุริยเทพบุตรนี้ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ มนุษย์ทั้งหลายย่อมมีอันเป็นไปดังที่มหาบพิตรได้ตรัสบรรยายแล้วนั้น ถ้าสุริยเทพบุตรนอนในปีใด ปีนั้นเกิดข้าวยากหมากแพง ถ้าในปีใดสุริยเทพบุตรนั่ง พวกมนุษย์ย่อมได้รับความสุขเป็นอันมาก ถ้าสุริยเทพบุตรขี่นาคไป ฝนจะกตในเดือนแรก น้ำจะมากแต่ต้นปี ปลายปีฝนจะน้อย และจะตกไม่ต้องตามฤดูกาล ถ้าสุริยเทพบุตรเสด็จไปข้างท่อลมมักจะเกิดวาตภัย ถ้าสุริยเทพบุตรขี่ราชสีห์ในปีใด ปีนั้นข้าวปลานาเกลือก็จะบริบูรณ์พูนผล หมู่มนุษย์ก็จะได้รับความสุขทุกถ้วนหน้า ถ้าสุริยเทพบุตรขี่กวางเสด็จไปชาวชนบทจะเกิดฆ่าฟันรัยแทงซึ่งกันและกัน และสตรีมีครรภ์จะมีอันตรายด้วยการคลอดบุตรเป็นอันมาก ถ้าสุริยเทพบุตรเสด็จไปข้างท่อน้ำ ปีนั้นฝนตกน้อย น้ำจะแห้งแล้ว กสิกรจะได้ทำไร่ไถนาเป็นอันลำบาก ถ้าสริยเทพบุตรเสด็จไปด้วยวิมาน หมู่มนุษย์ก็จะอยู่เป็นสุข ถ้าขี่ม้าเสด็จไปในปีใด ปีนั้นจะมีวัวควายช้างม้าเกิดขึ้นเป็นอันมาก ถ้าเสด็จไปข้าท่อไฟ แต่นั้นไปจะเกิดอัคคีภัย ถ้าเสด็จไปในเวลาเช้า หมู่มนุษย์ก็จะมีความทุกข์โศกโรคภัยเป็นอันมาก ถ้าเสด็จย้ายไปในเวลาเที่ยง หมู่มนุษย์จะมีโรคาพยาธิมาก ถ้าเสด็จไปในเวลาพลบค่ำ พระราชาตลอดจนราชกัญญาทั้งหายจะประกอบไปด้วยความทุกข์ดทมนัส ถ้าเสด็จย้ายไปในเวลาเที่ยงคืน หมู่สัตว์จะอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยอันตราย" ดังนี้ฯ
        ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลถามว่า "เมื่อถึงสงกรานต์พวกมนุษย์จะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากทุกข์ภัยไข้เจ็บได้ พระพุทธเจ้าข้า !" ตรัสว่า "อย่าได้พากันประมาทในศีลทานการกุศล จงทำบุญให้ทานแก่สมณะพราหมณาจารย์ยาจกวณิพกกำพร้าอนาถา สรงน้ำแก่พระสงฆ์ทั้งปวงและสรงพระพุทธรูป พระเจดีย์ ต้นโพธิ์ตลอดจนผู้เฒ่าคนชรา ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา ครู อาจารย์ จะได้รับพรจากท่าน แล้วจะได้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ สืบไป
       อนึ่ง ผู้มีความปราถนาจะพ้นทุกข์ภัยในวัฏฏสงสาร พึงสมาทานรักษา ศีล 5 ศีล 8 ประการ หมั่นสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนึ่งเล่าเหล่าชนผู้มีเมตตากรุณาเอ็นดูต่อสรรพสัตว์ปล่อยสัตว์สองเท้าสี่เท้าเป็นต้น ปลา เต่า และนก ย่อมได้ผลานิสงฆ์เป็นอันมากสุดที่จะคณนานับได้ พระเจ้าปะเสนทิโกศลทูลถามว่า "บุคคลผู้ปล่อยปลา เต่า เนื้อ และนกเป็นต้น จะได้อานิสงส์ผลเป็นประการใด" ตรัสว่า "ได้เสวยความสุขสำราญเป็นอเนกประการ มีอายุยืนนานมีกำลัง และความเพียรมากหาโรคเบียดเบียนมิได้ รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง ดุจสามเณรซึ่งจวนจะสิ้นอายุแล้ว เดินทางไปหมายจะลาโยมพ่อและโยมแม่ ขณะที่เดินทางไป ได้พบปลาตัวหนึ่ง ซึ่งดิ้นอยู่ด้วยความลำบากในที่ซึ่งน้ำลดลง จึงเกิดสงสารแล้วนำไปปล่อยในน้ำลึก ด้วยอานิสงฆ์ที่ปล่อยปลานั้น ทำให้สามเณรมีอายุยืนยาวสืบไป เพราะเหตุนี้บุคคลควรเป็นผู้มีความเมตตาต่อสัตว์สองเท้าสี่เท้าแล้ว จะได้เจริญด้วยสรรพสิริสวัสดิ์ มีอายุยืนยาวนาน ปราศจากโรคาพยาธิอันจะพึงมีมาเบียดเบียน" ดังนี้ฯ     


รดน้ำผู้สูงอายุและขอพร
     ครั้งนั้น พระเจ้าปะเสนทิโกศลทูลถามว่า "เหล่าชนผู้เอาน้ำหอมรด อาบให้แก่บิดามารดา ครู อาจารย์ พระพุทธรูป พระสงฆ์ พระเจดีย์ และต้นโพธิ์ เป็นต้น จะมีอานิสงส์ผลเป็นประการใด พระพุทธเจ้าข้า " ตรัสว่า "การกระทำเช่นนั้นได้ชื่อว่าทดแทนคุณบิดามารดา และได้ชื่อว่าทำถูกต้องตามตันติประเพณี ซึ่งมีมาแต่โบราณกาลอีกด้วย" ดังนี้แล้วทรงนำอดีตมาสาธกว่า
     ในสมัยดึกดำบรรพ์ บุรุษชาวเมืองอมรวดี มีอาชีพเป็นหมอเชี่ยวชายในการประกอบยาเพื่อรักษารักษาโรค นำทรัพย์มาเลี้ยงดูมารดา ครั้นต่อมาเขารักษาเศรษฐีผู้ป่วยจนหายเป็นปกติดีแล้ว ได้ค่าจ้างจากท่านเศรษฐีเขาได้นำทรัพย์มามอบให้มารดา บิดา แล้วออกเที่ยวรักษาเรื่อยไป ครั้นต่อมาบิดามารดาหาชีวิตไม่แล้ว เขาได้จัดการปลงศพทำบุญอุทิศให้ท่าน ครั้นเขาตายจากชาตินั้นแล้วได้ไปเกิดเป็น
เศรษฐีมีทรัพย์ 80 โกฏิ มีใจเป็นปราชญ์เพียบพร้อมด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เชื่อมั่นในคุณศีลทานภาวนา เคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่เป็นอันดี ครั้นตายจากชาตินั้นได้เกิดเป็นกษัตริย์ในกรุงจัมปานคร เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม มีทานการบริจาคเป็นต้น
   พระเจ้าปะเสนทิโกศลทรงสดับพระธรรมเทศนา ในสำนักพระบรมศาสดาดังนี้แล้ว ทรงมีพระราชหฤทัยผ่องแผ้วโสมนัสปรีดา ตรัสสรรเสริญพรรณนาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ถวายบังคมลาเข้าสู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์ตามเดิม
พิธีกรรม
    การทำบุญเดือนห้าจะทำขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ ของเดือน 5 จะเริ่มเวลาประมาณ 15.00 น พระสงฆ์ จะตีกลองใบใหญ่ในวัดเพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ญาติโยม ในหมู่บ้านออกมารวมกันที่วัดและนำพระพุทธรูปลงมาประดิษฐานไว้ในศาลาโรงธรรม ต่อมพระสงฆ์และชาวบ้านก็จะมาร่วมกัน จัดน้ำอบ น้ำหอม ธูป เทียน ดอกไม้ มาพร้อมกัน แล้วกล่าวคำบูชาอธิษฐาน ขอให้ฟ้าฝนตก ในบ้านเมือง อยู่ร่มเย็น แล้วก็สรงน้ำอบ น้ำหอมให้แก่พระพุทธรูปทั้งหมดที่มีอยู่ในวัด หลังจากนั้นก็สรงน้ำให้แก่พระสงฆ์ อันเป็นเคารพสักการะบูชาของชาวบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการเคารพท่านจะได้ให้ศีลให้พร ให้เรามีความสุข ความเจริญ และเป็นการต่ออายุของเรา
     หลังจากกลับมาถึงบบ้าน จะมีการสรงน้ำให้คนเฒ่า คนแก่ ซึ่งเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือครูบา อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่อันควรในการเคารพสักการะของเรา เอาน้ำอบ น้ำหอม ไปสรงท่าน ซึ่งเป็นการสักการะนับคือถึงบุญคุณของท่าน หลังจากนั้นก็เล่นสาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน
      ในตอนเย็นจะมีการก่อพระทราย ชาวบ้านจะนำทรายจากที่ใดที่หนึ่งแล้วแต่จะได้ทราย นำมาก่อพระทรายที่ลานวัด จะมีการประดับประดาพระเจดีย์ทราย แล้วแต่ความต้องการ และในวันนี้ ชาวบ้านที่มาทำบุญ จะมีการปล่อยสัตว์ เพื่อเป็นบุญกุศล ซึ่งเป็นสัตว์จำพวก นก ปลา เต่า และหอยเป็นต้น

       ก่อเจดีย์ทราย          เล่นสาดน้ำ   การแห่พระแก้วบุษราคัม
ปล่อยปลาน้ำวัดสุปัฏนาราม


ฮีตที่ ๖ บุญบั้งไฟหรือบุญเดือนหก
บุญบั้งไฟ  หรือบุญเดือนหก ทำเพื่อเป็นการบูชาเทพยดาอารักษ์หลักบ้านหลักเมือง เพื่อให้ฟ้าฝนตกตามฤดูกาล เพื่อให้ทำไร่ทำนาได้อุดมสมบูรณ์ และบูชาพญาแถนผู้ให้ฝนด้วย
บั้งไฟ ความหมายบั้งหรือกระบอกที่ตอกด้วย หมื่อ หมายถึงเอากัมมะถัน ประกอบด้วยดินประสิวคั่วผสมกับถ่านตำให้ละเอียดก่อนนำไปอัดแน่น
สาเหตุที่ทำ     เพื่อเป็นการสักการะบูชาพระยาแถน ซึ่งคนลาวและคนไทยอีสานเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฝน ถ้าได้จุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาเทพเจ้าองค์นี้แล้วจะบันดาลให้ฝนตกลงมา ตามฤดูกาลและมีปริมาณเพียงพอแก่การปลูกพืชพันธุ์ ธัญญาหาร
     มีเรื่องเล่าว่า  ณ บนสวรรค์ชั้นฟ้า มีเทพบุตรนามว่า วัสสกาลเทพบุตร เทพเจ้าองค์นี้เป็นผู้ดูแลน้ำฟ้า น้ำฝน จะตกหรือไม่ก็อยู่ที่เทพเจ้าองค์นี้ ใครทำถูก ทำชอบ ท่านก็จะประทานน้ำฝนให้ ใครทำไม่ถูกไม่ชอบท่านก็ไม่ให้ สิ่งที่ท่านเทพเจ้าองค์นี้ชอบคือการบูชาไฟ ใครบูชาไฟถือว่าบูชาท่านจะทำให้ฟ้าฝนตอลงมาตามฤดูกาล อาศัยเหตุนี้คนจึงพากันทำ การบูชาไฟด้วยการทำบั้งไฟ คือเป็นแระเพณีทำบุญบั้งไฟมาจนทุกวันนี้
พิธีกรรม      ชาวบ้านจะประชุมตกลงกันกำหนดวันนัดหมายวันที่จะทำบุญบั้งไฟผู้ที่เป็นช่างจะจัดหาไม้ไผ่มาทำบั้งไฟ เอาถ่านคั่วขี้เจีย (ดิน)ประสมตำเป็นหมื่อ การทำบั้งไฟมาแข่งขันกัน แบ่งออกตามขนาดที่กำหนด เช่น บั้งไฟฟมื่น จะมีหน้ำหนักประมาณ 12 กิโลกรัม บั้งไฟแสน จะมีน้ำหนักประมาณ 120 กิโลกรัม บั้งไฟพลุ (มีต้นตำรับแบบลูกระเบิด) เมื่อถึงวันรวม ชาวบ้าน ญาติโยมจะทำบุญเลี้ยงพระเพล และตอนประมาณบ่าย 3 โมงเย็น ทางวัดจะตีกลองเป็นสัญญาณบอกให้ทุกๆ คนนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดแล้วเริ่มตั้งขบวนแห่โดยเริ่มจากจุดใด จุดหนึ่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นขบวนแห่ แล้วก็นำรถที่บรรทุกใส่บั้งไฟเป็นขบวนแห่ให้ประชาชนดูรอบๆ แล้วนำไปไว้ที่วัดในการแข่งขันบั้งไฟจะมีคนมาร่วมขบวนแห่จำนวนมาก และในการแสดงจะมีการแสดงท่าทางต่างๆ ทั้งตลก เป็นการสร้างสีสรรในงานเป็นอย่างมาก
      ในวันรุ่งขึ้นญาติโยมจะทำบุญตักบาตร แล้วหลังจากนั้นก็จะมีการจุดบั้งไฟ ถ้าบั้งไฟของใครขึ้นก็จะร้องไชโย หามแห่เจ้าของบั้งไฟ แต่ถ้าบั้งไฟของใครแตก ซุ ก็จะหามลงโคลน ในช่วงเดือนหก นอกจากจะมีบุญบั้งไฟแล้วยังมีงานบุญในวันวิสาขบูชา


 บุญวันวิสาขบูชา
      ตรงกับวันเพ็ญเดือนหก ของทุกปี ถือเป็นวัน ประสูตร ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะทำบุญตักบาตรและเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อนำมาเวียนเทียนที่วัดเพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า บางคนก็จะไปวัด รักษาศีล ฟังเทศน์ที่วัด

                     


ฮีตที่ ๗ บุญชำระหรือบุญเดือนเจ็ด

บุญซำฮะ                         
   บุญซำฮะ หรือบุญเดือนเจ็ด ทำเพื่อชำระล้างสิ่งที่สกปรก รกรุงรังออกจากร่างกาย และทำจิตใจให้สดใส คำว่า ซำฮะหรือชำระ หมายถึง ทำให้สะอาด ปราศจากมลทินโทษ การทำให้สะอาดนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ
        1. ความสกปรก ภายนอก ได้แก่ร่างกาย เสื้อผ้า อาหาร การกิน ที่อยู่อาศัย สกปรก
        2. ความสกปรกภายใน ได้แก่จิตใจ เกิด ความโลภ โกรธ หลง
ตามฮีตสิบสองมีว่าพอเมื่อเดือนเจ็ดให้พากันบูชาเทวดาอารักษ์หลักเมืองทั้งมเหศักดิ์ด้วยเพื่อขอความคุ้มครองจากเทวดาอารักษ์มเหศักดิ์เมืองปู่ตาเมืองให้ปกปักรักษาบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็ฯสุข ไม่มีเหตุเภทภัยต่างๆมากล้ำกราย โดยแต่งเครื่องบูชาบวงสรวงเทพดังกล่าว พิธีนี้มีทุกบ้านทุกเมืองในเขตอีสาน
มูลเหตุที่ทำ
        มีเรื่องเล่าใน พระธรรมบทว่า ครั้งหนึ่งเมืองไพสาลีเกิดทุพภิกขภัย ภาวะข้าวยาก หมากแพง เพราะเกิดผนแล้ง สัตว์เลี้ยงต่างๆล้มตายเพราะความหิว เกิดโรคระบาด (โรคอหิวาตกโรค)ทำให้ผู้คนล้มตาย ชาวเมืองกลุ่มหนึ่งจึงพากันไปนิมนต์พระพุทธเจ้าให้มาขจัดปัดเป่า พระองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์ 500 รุป โดยเดินทางมาทางเรือใช้เวลาเดินทาง 7 วัน จึงถึงเมืองไพสาลี เมื่อเสด็จมาถึงก็เกิดฝน "ห่าแก้ว"ตกลงมาอย่างหนัก จนน้ำฝนท่วมแผ่นดินสูงถึงหัวเข่า และน้ำฝนก็ได้พัดพาเอาซากศพของผู้คนและสัตว์ต่างๆ ไหลล่องลอยลงแม่น้ำไปจนหมดสิ้น พระพุทธเจ้าทำน้ำมนต์ใส่บาตรให้พระอานนท์ นำน้ำมนต์ไปสาดทั่วพระนคร โรคร้าย ไข้เจ็บ ก็สูญสิ้นไปด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้าและน้ำพระพุทธมนต์ ดังนั้นคนลาวโบราณและคนไทยอีสานจึงถือเป็นประเพณี เมื่อถึงเดือนเจ็ดของทุกปีจะพากันทำบุญ ซำฮะ เป็นประจำทุกปี
พิธีกรรม
       เมื่อถึงวันทำบุญ ชาวบ้านจะพากันมารวมกันที่ศาลากลางบ้าน หากหมู่บ้านใดไม่มีศาลากลางบ้าน ชาวบ้านจะช่วยกันทำปะรำพิธีกลางหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะนำดอกไม้ ธูปเทียน ขันน้ำ ขันใส่กรวดทราย และฝ้ายผูกแขน มารวมที่ศาลากลางบ้าน ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหารมาทำบุญตักบาตร แลี้ยพระถวายจังหัน เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วจะให้พรและรดน้ำมนต์ให้กับชาวบ้านที่มาในงาน ทุกคนจะเอาขันน้ำมนต์ ด้ายผูกแขน ขันกรวดทารายกลับไปที่บ้านเรือนของตนเอง แล้วนำน้ำมนต์ไปปะพรมให้แก่ทุกคนให้ครอบครัว ตลอดจนบ้านเรือน วัว ควาย เอาด้ายผูกแขนลูกหลานทุกคน เชื่อว่าจะนำความสุขและสิริมงคลมาสู่สมาชิกทุกคน ส่วนกรวดทรายก็จะนำเอาไปหว่านรอบๆ บริเวณบ้านและที่สวนไร่นาเพื่อขับไล่เสนียด จัญไร และสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้หมดสิ้นไป
       บุญซำฮะ คือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ให้คนในหมู่บ้านร่วมกันทำความสะอาดบริเวณบ้านของตนและสถานที่สาธารณะของหมู่บ้าน และดอนปู่ตา ซึ่งถือว่าเป็นผีบ้าน เพื่อให้คุ้มครองชาวบ้านทุกคนทั้งหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุข
พิธีเลี้ยงปู่ตา  หมู่บ้านแทบทุกหมู่บ้านในภาคอีสานจะมี "ดอนปู่ตา" ซึ่งเป็นป่าสงวนของชาวบ้านที่ติดกับหมู่บ้าน โดยมีความเชื่อว่าบริเวณดอนปู่ตานี้เป็นที่อยู่อาศัยของผีบรรพบุรุษของหมู่บ้านในบริเวณดอนปู่ตานี้ จะถือว่าเป็นสิ่งหวงห้าม ชาวไม่กล้าทำลาย จึงทำให้ป่าในบริเวณนี้เจริญ และสมบูรณ์ที่สุดดังนั้นในเดือนเจ็ด นอกจากบุญซำฮะแล้วขังมี บุญเลี้ยงหลักบ้าน จะมีบุญเลี้ยงผีปู่ตา ซึ่งจะเลี้ยงหลังจากการเลี้ยงหลักบ้าน 




ฮีตที่ ๘ บุญเข้าพรรษาหรือบุญเดือนแปด


บุญเข้าพรรษา หรือบุญเดือนแปด ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัฒนธสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ทำให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกวันนี้ว่า วันอาสาฬหบูชา การเข้าพรรษา หมายถึงการที่พระภิกษุอธิษฐานที่จะอยู่ประจำ ณ วัดใด วัดหนึ่งเพื่อปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น เว้นแต่จะถือสัตตาหะตามพุทธบัญญัติ
มูลเหตุที่ทำ 
       มีเรื่องเล่าว่า ในระหว่างที่ภิกษุทั้งปวงที่เที่ยวไปแสวงบุญตามชนบททั่วไป ไม่มีเวลาพักผ่อน ทั้งฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน เฉพาะฤดูฝนนั้นต่างจะเหยียบย่ำหญ้าและข้าวกล้า ของประชาชนเสียหาย สัตว์น้อย สัตว์ใหญ่ พลอยถูกเหยียบตายไป ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบดังนั้น จึงบัญญัติให้พระภิกษุต้องจำพรรษา 3 เดือนในฤดูฝนโดยมิให้ไปค้างแรมที่อื่นนอกจากในวัดของตน ถ้าหากไปถือว่าเป็นการขาดพรรษา จะต้องอาบัติปฏิสสวทุกกฎ แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้เช่นกัน เช่น กรณี บิดา มารดา เจ็บไข้ได้ป่วย ยกเว้นเพื่อรักษา พยาบาลได้แต่ก็ต้องกลับมาภายใน 7 วัน พรรษาจึงจะไม่ขาด หากเกิน 7 วันไป เป็นอันว่าพรรษาขาด


พิธีกรรม 
       ในวันเพ็ญเดือนแปด ตอนเช้าญาติโยมจะนำดอกไม้ ธูป เทียน ข้าวปลาอาหารมาทำบุญตักบาตรที่วัด หลังจากนั้น จะนำสบง จีวร ผ้าอาบน้ำฝน เทียนพรรษาและดอกไม้ ธูปเทียนมาถวายพระภิกษุที่วัดแล้วรับศีลฟังพระธรรมเทศนา ตอนกลางคืน เวลาประมาณ 19.00 - 20.00 น.ชาวบ้านจะนำดอกไม้ ธูป เทียน มารวมกันที่ศาลาโรงธรรมรับศีล แล้วเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ หลังจากเวียนเทียนแล้วก็จะเข้าไปในศาลาโรงธรรมเพื่อฟังพระธรรมเทศนา
       ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด เป็นวันเข้าพรรษา ญาติโยมจะทำบุญตักบาตร และในวันนี้จะมีการแห่ต้นเทียนจากวัดต่างๆ ซึ่งได้เตรียมจัดทำเทียนพรรษา ซึ่งทางวัดในแต่ละวัดในจังหวัดอุบลราชธานีจะประดับประดาต้นเทียน เป็นรูปต่างๆ เช่นพระเวสสันดรชาดก รูปพระพุทธเจ้า ฯลฯ มีการประกวดต้นเทียนอย่างสวยงาม มีการประกวดชิงรางวัล ซึ่งชาวจังหวัดอุบลราชธานีถือว่าเป็นงานที่สำคัญของจังหวัด เรียกว่างานแห่เทียนพรรษา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี



ฮีตที่ ๙ บุญข้าวประดับดินหรือบุญเดือนเก้า


  การห่อข้าวปลาอาหารและของขบเคี้ยวต่างๆ เป็นห่อๆ แล้วนำไปถวายทานบ้าง แขวนไว้ตามต้นไม้บ้าง ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) เรียกว่าข้าวประดับดิน การทำบุญด้วยการให้ทาน รักษาศีล ด้วยอาศัยข้าวประดับดินเป็นมูลเหตุเรียกว่า "ข้าวประดับดิน" สาเหตุที่เรียกว่าบุญเดือนเก้า เพราะมีกำหนดทำกันจนเป็นประเพณีในเดีอนเก้า นักปราชญ์อีสานโบราณได้กล่าวไว้เป็นบทผญา โดยได้พรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์และประเพณีการทำบุญในเดือนนี้ว่า...
เดือนแปดคล้อยเห็นลมทั่งใบเสียว

เหลียวเห็นหมู่ปลาขาวแล่นมาโฮมต้อน
กบเพิ่นนอนคอยท่าฝนมาสิได้ม่วน
ชวนกันลงเล่นน้ำโห่ฮ้องซั่วแซว
เดือนเก้ามาฮอดแล้วบ้านป่าขาดอน
เห็นแต่นกเขางอยคอนส่งเสียงหาซู้
เถิงระดูเดือนเก้าอีสานเฮาทุกท้องถิ่น
คงสิเคยได้ยินบุญประดับดินกินก้อนทานทอดน้อมถวาย
มูลเหตุของความเป็นมาของเรื่องการทำบุญข้าวประดับดินนี้ เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบท โดยปรารภถึงญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกเงินวัด ของสงฆ์ต่างๆ ไปเป็นของตนเอง ในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า พวกอดีตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรกตลอดพุทธันดร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระสมณโคดมพุทธเจ้าในภัททกัปป์นี้ ก็ไม่ได้ตรวจน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่พวกญาติเหล่านั้น
พอตกกลางคืนพวกเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ได้มาส่งเสียงร้องอันโหยหวนและแสดงรูปร่างน่ากลัวให้แก่พระเจ้าพิมพิสารได้ยินและเห็น พอเช้าวันรุ่งขึ้นได้เสด็จไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราวที่เป็นมูลเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญถวายทานอีก แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปให้ พวกญาติที่ตายไปแล้วได้รับส่วนกุศลแล้ว ได้มาแสดงตนให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นและทราบว่า ทุกข์ที่พวกญาติได้รับนั้นทุเลาเบาบางลงแล้ว เพราะการอุทิศส่วนกุศลของพระองค์
การทำบุญข้าวประดับดินก็เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ตายไปแล้ว ชาวอีสานถือเป็นประเพณีที่จะต้องทำกันทุกๆ ปีมิได้ขาด โดยได้กำหนดเอาวันแรม 15 คำ เดือนเก้า เป็นเกณฑ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนเก้าดับ" บางท้องถิ่นอาจจะเรียกว่า "บุญเดือนเก้าลับก็มี"...
ทำบุญข้าวประดับดิน กำหนดเอาวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 ประชาชนหาอาหาร หมากพลู บุหรี่ ห่อด้วยใบตองไปวางตามยอดหญ้าบ้าง แขวนตามกิ่งไม้บ้าง และใส่ไว้ตามศาลเจ้าเทวาลัยบ้าง วัตถุประสงค์เพื่ออุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อมานิยมทำบุญตักบาตรและกรวดน้ำอุทิศกุสลตามแบบพุทธ แต่มีผู้ใหญ่บางท่านว่าบุญประดับดินนี้ เป็นพิธีระลึกถึงคุณของแผ่นดินมนุษย์ได้อาศัยแผ่นดินอยู่และทำกิน พอถึงเดือน 9 ข้าวปลาพืชผลกำลังเจริญ ชาวบ้านจึงทำพิธีขอบคุณแผ่นดิน "เดือนเก้าแล้วเป็นกลางแห่งวัสสกาล ฝูงประชาชาวเมืองเล่าเตรียมกันไว้ พากันนานยังเข้าประดับดินกินก่อน ทายกนานให้เจ้าพระสงฆ์พร้อมซู่ภาย"
บุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต หรือญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดินจะประกอบด้วย ข้าว อาหารคาวหวาน หมากพลูและบุหรี่ ซึ่งเราห่อหรือใส่กระทงไปวางไว้ตามพื้น หรือแขวนไว้ตามต้นไม้ในบริเวณวัด
พิธีทำบุญข้าวประดับดิน ในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ญาติโยมนิยมถวายทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ และมีการเตรียมอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ โดยห่อด้วยใบตองหรือใส่กระทง รุ่งเช้าในวันแรม 14 ค่ำ เวลาประมาณ 4 ถึง 5 นาฬิกา นำห่อหรือกระทงที่เตรียมไว้ไปถวายหรือแขวนในบริเวณวัด ในการวางสิ่งของเพื่ออุทิศให้เปรตหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วดังกล่าว บางท้องถิ่นอาจทำก่อนถวายทานก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวประดับดิน

คำถวายสังฆทาน (ข้าวประดับดิน)


   อิมานิ มะยัง ภันเต ปิณฑะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยะมะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปิณฑะ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

   ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายข้าวและอาหาร (ข้าวประดับดิน) กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับข้าวและอาหาร(ข้าวประดับดิน) พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และ ความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ
 



ฮีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนเก้าแล้วเป็นกลางแห่งวัสสกาล ฝูงประชาชนชาวเมืองก็เล่า เตรียมตัวพร้อม พากันทานยังเข้าประดับดินกินก่อน ทายกทานให้เจ้าพระสงฆ์พร้อมอยู่ภาย ทำ จั่งซี้บ่ย้ายเถิงขวบปีมา พระราชาในเมืองก็จงทำแนวนี้ ฮีตหากมามีแล้ววางลงให้ถือต่อ จำไว้เด้อ พ่อเฒ่าหลานเว้ากล่าวจา


ทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ โดยการจัดอาหาร หมากพลูห่อด้วยใบตองกล้วย เหล้า บุหรี่ แล้วนำไปวางไว้ใต้ต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่ง พร้อมทั้งกล่าว เชิญวิญญาณของญาติมิตรที่ล่วงลับไปมารับอาหาร ต่อมาใช้วิธีการกรวดน้ำแทน



ฮีตที่ ๑๐บุญข้าวสาก(สลากภัตร)หรือบุญเดือนสิบ

         บุญเดือนสิบ บุญข้าวสาก หมายถึงบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวายและบุญนี้จะทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบ จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่า "บุญเดือนสิบ"
             ห่อข้าวน้อย

มูลเหตุที่ทำ
          เพื่อจะทำให้ข้าวในนาที่ปักดำไปนั้นงอกงาม และได้ผลบริบูรณ์ และเป็นการอุทิศส่วนกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับ ไปแล้ว
ความเป็นมาของสลากภัตตทาน ในสมัยหนึ่งพุทธองค์ได้เสด็จไปกรุงพาราณสี ในคราวนี้นบุรุษเข็ญใจ พาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า "เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญ-ให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้นจึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า"ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็พลอยเห็นดีด้วย จึงในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขายได้ทรัพย์แล้วได้นำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว 1 ใบ หม้อแกง 1 ใบ อ้อย 4 ลำ กล้วย 4 ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสลากภัตตทานพร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวายเสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพีแล้วตั้งความปราถนา "ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใดๆ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็นใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมาก ในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด" ดังนี้
          ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้วก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร ด้วยอานิสงฆ์แห่งสลากภัตตทาน จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภาตระการยิ่งนัก พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร มีนามบรรหารว่า "สลากภัตตเทพบุตรเทพธิดา"
          กาล กตวา ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้วก็ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพาราณสี มีพระนามว่าพระเจ้าสัทธาดิส เสวยราชสมบัติอยู่ 84,000 ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา ครั้นสูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็นพระตถาคตของเรานั่นเอง นี่คืออานิสงฆ์แห่งการถวายสลากภัตต์ นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์แก่ผู้บำเพ็ญทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ ในที่สุดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้

        

การเตรียมห่อข้าวน้อย                  พระสงฆ์รดน้ำที่ห่อข้าวน้อย          แขวนห่อข้าวน้อยตามต้นไม้   
   ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
คำถวายสลากภัต
          เอตานิมะนังภันเต สะจากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุภัฏฐานน ฐะปิตานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเตอภิกขุสังโฆ เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
         ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้น ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารพร้อมทั้งของที่เป็นบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ.
     
พิธีกรรม
          เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะเตรียมอาหาร คาวหวาน และหมากพลู บุหรี่ พอเข้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร พอถึงเวลาประมาณ 9 - 10 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม(รวม) ญาติโยมจะนำอาหารที่เตรียมถวายพระสงฆ์และห่อข้าวน้อยซึ่งมีอาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อยแต่ละห่อประกอบด้วย
          1. ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว
          2. กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่)เป็นอาหารหวาน
          หลังจากนำอาหารที่เตรียมห่อเป็นคู่ๆ นำมาผูกกันเป็นพวงแล้วแต่จะใส่กี่ห่อก็ได้ส่วนใหญ่จะใช้ 10 คู่ เมื่อนำไปเลี้ยง "ผีตาแฮก" ที่นาของตนเองด้วย โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผีตาแฮกพอใจ และช่วยดูแลข้าวกล้าในนาให้งอกงามสมบูรณ์ ตลอดจนช่วยขับไล่ศัตรูข้าวได้แก่ นก หนู ปูนา ไม่ให้มาทำลายต้นข้าวในนาอีกส่วนหนึ่ง เมื่อนำอาหารมาถึงศาลาวัดที่จะทำบุญแล้ว เขียนชื่อของตนลงในกระดาษ ม้วนลงใส่ในบาตร เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว ผู้ที่จะเป็นหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต ญาติโยมว่าตามจบแล้วนำไปให้พระเณร จับสลากที่อยู่ในบาตร พระเณรจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว(สำรับกับข้าว)และเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้นๆ จากนั้นพระเณรจะฉันเพล ให้พรญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว

ฮีตที่ ๑๑ บุญออกพรรษาหรือบุญเดือนสิบเอ็ด

บุญเดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา 

          เป็นงานบุญที่จัดทำขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี เรียกงานบุญนี้ว่า บุญเดือนสิบเอ็ดหรือบุญออกพรรษาและนับเป็นฮีตที่ 11 ของชาวไทยอีสาน



      มูลเหตุที่ทำ เพื่อให้พระสงฆ์สามารถออกจากวัดไปพักแรม
ที่อื่นได้เพื่อเปิดโอกาสให้พระภิกษุได้มีโอกาสว่ากล่าวตักเตือน

กันให้พระภิกษุสงฆ์ได้เที่ยวอบรมศีลธรรมและบวชให้ลูกหลาน

สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้พระภิกษุได้ไปเยี่ยมบิดา มารดา
และญาติพี่น้องได้เนื่องจากช่วงเข้าพรรษาไม่สามารถออก
จากวัดไปค้างแรมที่อื่นวันออกพรรษานับเป็นวันสิ้นสุดของการ
จำพรรษาของภิกษุสามเณรที่จำพรรษาในช่วง 3 เดือน

พิธีกรรม

         ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตั้งแต่ตอนเช้ามืด พระสงฆ์จะตีระฆังและไปรวมกันที่โบสถ์ แสดงอาบัติต่อกันทำวัตรเช้า จากนั้นก็ปวารณา แทนการสวดปาฏิโมกข์ (ปวารณา คือ พิธีกรรมทางศาสนายอมให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ก่อนจะปวารณาให้ตั้งญัตติก่อนองค์ละ 1 - 2 หรือ 3 จบ โดยให้พระเถระขึ้นนั่งบนอาสนะแล้วตั้งญัตติเป็นภาษาบาลีว่า "สุณาตุ เม ภัรเต สังโฆ อัชชะ ปวารณา ปัณณะเรสี ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ เตวาจิกัง ปะวาเรยยะ" หลังจากนั้น ลงจากอาสนะ หันหน้ามาหาพระสงฆ์ทั้งหมด กล่าวคำปวารณาต่อสงฆ์ว่า
         สังหังอาวุโส ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะวา สุเตนะวา ปะริสังกายะวา วะนตุมัง อายัสสัมมันดต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกะริสสเม" กาล่าวเช่นนี้รูปละ 3 จบ เรียงตามลำดับอาวุโสพรรษา


        เมื่อจะคำปาวรณา พระเถรจะให้โอวาทตักเตือนพระสงฆ์
        ในจังหวัดอุบลราชธานี ในงานบุญออกพรรษายังมีงานบุญที่ทำเป็นประเพณีประจำมีดังนี้
        1. ไต้ประทีป หรือไต้น้ำมัน ซึ่งวัดในหมู่บ้านจะจัดสร้าง "ฮ้านประทีป" (ห้างประทีป) ขึ้นที่หน้าพระอุโบสถ ซึ่งสร้างด้วยเสาสี่ต้น (จะเป็นเสาไม้ไผ่หรือไม้อะไรก็ได้) แต่ละเสาประดับด้วยต้นกล้วยต้นอ้อย ระหว่างเสาสี่ต้นนั้นทำเป็นยกพื้นสูงประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง ปูพื้นด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะตาห่างๆ และแซมด้วยกาบกล้วย ตอนกลางคืนของวันจึ้น 14 ค่ำ,15 ค่ำ แรม 1 ค่ำเดือน 11 ชาวบ้านจะนำประทีป ธูป เทียน มาจุดบูชาพระรัตนตรัยร่วมกันที่ "ฮ้านประทีป" เรียกว่า ไต้หมากฮุ่งเฮง โดยมีกำหนด ดังนี้
             1. จุดในคืนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ไต้น้ำมันน้อย
             2. จุดในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ไต้น้ำมันใหญ่"
             3. จุดในคืนวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ไต้น้ำมันหางประทีป"
       2. ไหลเรือไฟ
             เป็นประเพณีซึ่งทำเป็นประจำทุกปีที่แม่น้ำมูล ซึ่งทางจังหวัดอุบลราชธานีได้จัดงานขึ้น ซึ่งเป็นงานประเพณี ประจำจังหวัด จัดขึ้น ณ บริเวณแม่น้ำมูล ตรงใกล้ตลาดใหญ่ บริเวณเชิงสะพานรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะมีการตกแต่งเรือไฟอย่างสวยงาม ตกแต่งด้วย ตะเกียงแก้ว โคมไฟ เรือไฟนี้จะร่วมกันทำหมู่บ้านละลำ พอเย็นหลังพระสงฆ์สวดมนต์เย็นจบ ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนมาตกแต่งประดับประดาเรือให้สวยงามเมื่อถึงเวลาค่ำหลังจาก "ไต้ประทีปแล้ว ก็จะจุดประทีปตะเกียงและเทียนปักที่ตามแคมเรือ แล้วนำเรือปล่อยให้ไหลไปตามสายน้ำ
           จุดประสงค์ของการไหลเรือไฟ เพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ตามที่พระยานาคได้ทูลขอ
       3. ลอยกระทง
               ในวันออกพรรษานี้ ก็มีการลอยกระทงเพื่อบูชาพระแม่คงคา และเพื่อเป็นการขออโหสิกรรมต่อพระแม่คงคา ก็จะลอยกระทงพร้อมปล่อยเรือไฟหรือไหลเรือไฟ แต่โบราณการไหลเรือไฟถือเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาจะปล่อยเรือจากหน้าวัดสุปัฏนาราม ให้ไหลลอยลงไปจนสุดเขตหาดวัดใต้ เป็นการบูชาบ้านเมืองและบูชาพญานาค 15 ตระกูล ในระยะผ่านหน้าเมือง จะมีชายหนุ่มคอยเขี่ยขี้ไต้ให้ลุกโชติช่วงตลอดไป เมื่อพ้นเขตหน้าวัดใต้ จะปล่อยเรือไฟให้ลอยไปตามแม่น้ำมูล

พระ เณร กวนข้าวทิพย์

ชาวบ้านช่วยกันกวนข้าวทิพย์

จุดดอกไม้ไฟ

การไหลเรือไฟ ตอนกลางคืน

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11


ฮีตที่ ๑๒ บุญกฐินหรือบุญเดือนสิบสอง


มูลเหตุที่ทำ
         เพื่อให้ภิกษุสงฆ์มีโอกาสได้ผลัดเปลี่ยนไตรจีวรใหม่ เนื่องจากของเก่าใช้นุ่งห่มมาตลอดระยะเวลาสามเดือนที่เข้าพรรษา ย่อมเก่า มีเรื่องเล่าว่าภิกษุชาวเมืองปาฐา 30 รูปพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร ไปไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงพักจำพรรษา ที่เมืองสาเกตุพอออกพรรษาแล้วพากันเดินกรำฝน จีวรเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน พอไปถึงแล้วก็เข้าเผ้าพระองค์ทรงเห็นความลำบากของภิกษุเหล่านั้นจึงอนุญาตให้รับผ้ากฐินได้ นางวิสาขาทราบความประสงค์จึงนำผ้ากฐินมาถวายเป็นคนแรก จึงถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
ชนิของกฐินที่ทำมี 2 ประเภท

       1. กฐินเล็กหรือภาคกลางเรียกว่า "จุลกฐิน" ซึ่งเป็น "กฐินเล็ก" เป็นกฐินที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว เริ่มตั้งแต่ปั่นด้าย ทอเป็นผืน ตัดเย็บเป็นผ้าไตรจีวรพร้อมทั้งย้อมสี ซึ่งกฐินประเภทนี้ต้องให้ความร่วมมือร่วมแรงของผู้คนเป็นจำนวนมากจึงจะเสร็จทันเวลา จังหวัดอุบลราชธานีทำจุลกฐินที่วัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
       2. มหากฐิน เป็นกฐินที่มีบริวารมาก ใช้เวลาเตรียมการนานมีคนนิยมทำกันมากเพราะถือว่าได้บุญได้กุศลมาก
ขนาดผ้ากฐิน มีกำหนดขนาดผ้าที่ใช้ทำเป็นผ้ากฐิน ดังนี้
         ผ้าสบง ยาว 6 ศอก กว้าง 2 ศอก ผ้าจีวรและสังฆาฏิ มีขนาดเท่ากัน คือ ยาว 6 ศอก กว้าง 4 ศอก ผ้ากฐินทั้ง 3 ผืนนี้เรียกว่า "ไตรจีวร"
         องค์ประกอบสำคัญของกฐินประกอบด้วย "อัฐบริขาร" สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกน เข็มเย็บผ้า ประคตเอว (ผ้ารัดเอว) กระบอกกรองน้ำองค์ประกอบทั้ง 8 อย่างนี้จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะถือว่าเป็น "หัวใจ"ของกฐินหรือเป็น "บริขารกฐิน" จะมีหรือไม่มีก็ได้ เช่น ผ้าปูนั่ง ผ้าอาบน้ำ ผ้าห่มกันหนาว เสื่อ หมอน ถ้วย จาน แป็นต้น
พระสงฆ์ที่จะรับกฐินได้ต้องเป็นผู้จำพรรษาครบ 3 เดือน และมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 5 รูป ถ้าไม่ถึง 5 รูปถือว่าใช้ไม่ได้ แม้จะนิมนต์ไปจากวัดอื่นให้ไปร่วมประชุมสงฆ์เพื่อรับกฐินก็ไม่สามารถรับกฐินได้

      
พิธีกรรม
        ผู้มีศรัทธาประสงค์จะทำบุญกฐินต้องไปติดต่อของจองวัดที่จะนำกฐินไปทอด เมื่อเจ้าอาวาสแจ้งว่าวัดนั้นยังไม่มีผู้ใดมาจองกฐินผู้มีศรัทธาที่จะทำบุญกฐิน จะเขียนสลาก (ใบจอง) บอกชื่อต้น ชื่อสกุล ตำแหน่งที่อยู่ของตนให้ชัดเจน เพื่อประกาศให้คนทั้งหลายรู้ว่าตนเป็นผู้จอง และจะนำกฐินมาทอดที่วัดดังกล่าว สลากต้องปิดไว้ในที่เปิดเผย เช่น ศาลาโรงธรรม โบสถ์ และต้องบอกวัน เวลาที่จะทอดด้วย เพื่อไม่ให้ผู้อื่นไปจองซ้ำ เพราะปีหนึ่ง แต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงกองเดียว เมื่อจองแล้วก็จัดหาเครื่องบริขารและบริวารกฐินไว้บอกญาติ และพี่น้องให้มาร่วมกันทำบุญ งานบุญกฐินถือว่าเป็นงานบุญอันยิ่งใหญ่ที่ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ถ้าผู้ใดทำบุญกฐินแล้วตายไปก็จะไม่ตกนรกมีแต่จะได้รับผลบุญที่ตนเองกระทำสะสมไว้ในชาตินี้ไว้เก็บกินในชาติหน้า
       เมื่อถึงวันรวมก็จะตั้งองค์กฐินที่บ้านของตน โดยซื้อเครื่องอัฐบริขารและเครื่องบริวารกฐิน ซึ่งเครื่องบริวารกฐินส่วนมากจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนมาตั้งวาางไว้ในที่เปิดเผยเพื่อให้ญาติพี่น้อง หรือชาวบ้านใกล้เคียงนำสิ่งของ เช่น เสื่อ หมอน อาสนสงฆ์ ผ้าห่ม ถ้วย จาน ฯลฯ มาร่วมสมทบกองกฐิน เมื่อถึงวันงานก็นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญ พระพุทธมนต์ฟังเทศน์ ตอนกลางคืนอาจจัดให้มีงานมหรสพต่างๆ เช่น หมอลำ ภาพยนต์หรืออาจจัดเป็นงานเลี้ยงฉลองบุญกฐินก็แล้วแต่เจ้าภาพ
        พอตอนรุ่งเช้าก็แห่กฐินจากบ้านไปถวายพระสงฆ์ที่วัดเมื่อเดินทางไปถึงวัด จึงเริ่มแห่เครื่องกฐินทั้งหมดรอบศาลาโรงธรรมโดยแห่เวียนขวา 3 รอบ แล้วจึงนำกฐินขึ้นตั้งบนศาลาโรงธรรม จากนั้นก็จะนำข้าวปลา อาหารเลี้ยงพระ ถ้าถวายตอนเช้าก็เลี้ยงพระตอนฉันเพล เมื่อพระสงฆ์สามเณรฉันเสร็จแล้ว ผู้เป็นเจ้าภาพองค์กฐินจะนุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยรับศีล แล้วกล่าวคำถวายกฐิน เป็นการเสร็จพิธีของฝ่ายญาติโยม ส่วนพระสงฆ์เมื่อมีกฐินมาทอดที่วัด ก็จะประชุมสงฆ์ทั้งวัดแล้วให้ภิกษุรูปหนึ่งถามที่ประชุมสงฆ์ว่า ผ้ากฐินและเครื่องบริวารจะมอบพระสงฆ์รูปใด จะมีภิกษุรูปหนึ่งเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์ว่ ควรให้แก่ภิกษุรูปใด โดยเอ่ยนามภิกษุที่สมควรจะได้รับกฐิน ส่วนมากก็จะเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้นๆ เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นชอบตามที่มีผู้เสนอ ก็จะเปล่งคำว่า "สาธุ" พร้อมกัน จากนั้นญาติโยมก็จะพากันถวายเครื่องปัจจัยไทยทานแด่ภิกษุสามเณรอื่นๆ ทั้งวัด พระสงฆ์รับแล้วจะอนุโมทนา และให้พรเป็นการเสร็จพิธี
          มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยดึกดำบรรพ์ ครั้งพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า บุรุษชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งเป็นคนเข็ญใจไร้ที่พึ่ง ไปอาศัยสิริธรรมเศรษฐีผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ นับได้ 80 โกฏิ โดยยอมตนเป็นคนรับใช้ อาศัยอยู่กินหลับนอนในบ้านท่านเศรษฐี ๆ ถามว่า "เธอมีความรู้อะไรบ้าง?" เขาตอบอย่างอ่อนน้อมว่า "กระผมไม่มีความรู้เลยขอรับ" ท่านเศรษฐีจึงถามว่า "ถ้าอย่างนั้นเธอจะรักษาไร่หญ้าให้เราได้ไหม? เราจะให้อาหารวันละหม้อ" เพราะความที่เขายากจน บุรุษนั้นจึงตอบตกลงทันที แล้วเข้าประจำหน้าที่ของตนต่อไป และมีชื่อว่า ติณบาล เพราะรักษาหญ้า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป
        วันหนึ่งเป็นวันว่างงาน เขาจึงคิดว่า "ตัวเรานี้เป็นคนยากจนเช่นนี้เพราะไม่เคยทำบุญอันใดไว้ในชาติก่อนเลย มาชาตินี้จึงตกอยู่ในฐานะผู้รับใช้คนอื่นไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีสมบัติติดตัวแม้แต่น้อย" เมื่อคิดดังนี้แล้วเขาได้แบ่งอาหารที่ท่านเศรษฐีให้ ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งถวายแก่พระสงฆ์ผู้เที่ยวบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับตนเองรับประทาน ด้วยเดชกุศลผลบุญอันนั้น ทำให้ท่านเศรษฐีเกิดสงสารเขา แล้วให้อาหารเพิ่มอีกเป็น 2 ส่วน เขาได้แบ่งอาหารเป็น 3 ส่วน ถวายแก่พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งให้แก่คนจนทั้งหลาย ส่วนที่สามเอาไว้บริโภคสำหรับตนเอง เขาทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลาช้านาน
        ต่อมาเป็นวันออกพรรษา เหล่าชนผู้มีศรัทธาต่างพากันทำบุญกฐินเป็นการใหญ่ แม้ท่านเศรษฐีผู้เป็นนายของเขาก็เตรียมจะถวายกฐิน จึงประกาศให้ประชาชนทั้งหลายทราบโดยทั่วกันว่า สิริธรรมเศรษฐีจะได้ทำบุญกฐินเมื่อติณบาลได้ยินก็เกิดความเลื่อมใสขึ้นในใจทันทีว่า กฐินทานนี้แหละจะเป็นทานอันประเสริฐ แล้วเข้าไปหาท่านเศรษฐีถามว่า "กฐินทานมีอานิสงฆ์อย่างไรบ้าง?" เศรษฐีตอบว่า "มีอานิสงฆ์มากมายหนักหนาสมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสโถมนาการ สรรเสริญว่าเป็นทานอันประเสริฐ"
       เมื่อเขาได้ทราบดังนี้แล้ว ก็มีความโสมนัสปลาบปลื้มเป็นอันมาก จึงพูดกับเศรษฐีว่า "ผมมีความประสงค์ที่จะร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญทานครั้งนี้ด้วย ท่านจะเริ่มงานเมื่อไรขอรับ?" ท่านเศรษฐีตอบว่า "เราจะเริ่มงานเมื่องครบ 7 วัน นับจากวันนี้ไป"
         ติณบาลได้ฟังดังนั้นก็ดีใจยิ่งนัก ได้กลับไปยังที่อยู่ของตน แล้วเกิคความคิดว่า เราไม่มีอะไรเลย แม้ผ้าผืนเดียว เราจะทำบุญร่วมกับท่านเศรษฐีได้อย่างไร เขาครุ่นคิดอยู่เป็นเวลานาน ยิ่งคิดไปก็ยิ่งอัดอั้นตันปัญญา หาสิ่งที่จะร่วมอนุโมทนากฐินกับท่านเศรษฐีไม่ได้ ในที่สุดเขาได้เปลื้องผ้านุ่งของตนออกพับให้ดี  แล้วเย็บใบไม้นุ่งแทน แล้วเอาผ้านั้นไปเร่ขายในตลาด
        ชาวตลาดทั้งหลายเห็นอาการเช่นนั้น ก็พากันหัวเราะกันออกลั่นไปเขาชูมือขึ้นแถลงว่า "ท่านทั้งหลายหยุดก่อน อย่าหัวเราะข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้ายากจนไม่มีผ้าจะนุ่ง จะขอนุ่งใบไม้แต่ในชาตินี้เท่านั้น ชาติหน้าจะนุ่งผ้าทิพย์"
         ครั้นพูดชี้แจงแก่ประชาชนชาวตลาดดังนี้แล้ว เขาได้ออกเดินเร่ขายเรื่อยไป ในที่สุด เขาได้ขายผ้านั้นในราคา 5 มาสก (1 บาท) แล้วนำไปมอบให้ท่านเศรษฐีๆ ได้ใช้ซื้อด้ายสำหรับเย็บไตรจีวร ในกาลครั้งนั้นได้เกิดโกลาหลทั่วไปในหมู่ชน ตลอดถึงเทวดาในฉกามาพจรสวรรค์
         ฝ่ายพระเจ้าพาราณสีทรงทราบเหตุผล จึงรับสั่งให้นำติณบาลเข้าเฝ้า แต่เขาไม่ยอมเข้าเฝ้าเพราะละอาย จึงได้ตรัสถามความเป็นไปของเขาโดยตลอดแล้ว ทรงให้ราชบุรุษนำผ้าสาฎกราคาแสนตำลึงไปพระราชทานแก่เขา นอกจากนั้นได้พระราชทานบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ ช้าง ม้า วัว ควาย ทาสี ทาสา เป็นอันมากแล้วโปรดให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีชื่อว่า ติณบาลเศรษฐี จำเดิมแต่บัดนั้นเป็นไป
         ครั้งต่อกาลนานมา ติณบาลเศรษฐีเมื่อดำรงชีวิตอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ตายไปเกิดเป็นเทพบุตรในดาวดึงส์พิภพ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานแก้ว สูงได้ 5 โยชน์ มีนางเทพอัปสรหมื่นหนึ่งเป็นบริวาร ส่วนสิริธรรมเศรษฐี ครั้นตายจากโลกมนุษย์แล้วได้ไปเกิดในดาวดึงส์สวรรค์ มีนางฟ้าเป็นบริวาร เช่นเดียวกันกับติณบาลเศรษฐี

                                                                        ........................

              ฮีตหนึ่งนั้น เดือนสิบสองมาแล้วลมวอยหนาวสั่น เดือนนี้หนาวสะบั้นบ่คือแท้แต่หลัง ในเดือนนี้เพิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ซ่วงกันบูชา ฝูงนาโค นาคเนาว์ในพื้น ชื่อว่าอุชุพะนาโค เนาว์ ในพื้นแผ่น สิบห้าสกุลบอกไว้บูชาให้ส่งสะการ จงทำให้ทุกบ้านบูชาท่านนาโค แล้วลงโมทนาดอม ชื่นชมกันเล่น กลางเว็นกลางคืนให้ระงมกันขับเสพ จึงสิสุขอยู่สร้างสบายเนื้ออยู่เย็น ทุกข์ทั้งหลาย หลีกเว้นหนีห่างบ่มีพาน ของสามานย์ทั้งปวงบ่ได้มีมาใกล้ ไผผู้ทำตามนี้เจริญขึ้นยิ่งๆ ทุกสิ่งบ่ไฮ้ ทั้งข้าวหมู่ของ กรรมบ่ได้ถึกต้องลำบากในตัว โลดบ่มีมัวหมองอย่างใดพอดี้ มีแต่สุขีล้นครองคน สนุกยิ่ง อดในหลิงป่องนี้เด้อเจ้าแก่ชรา

              เดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าตามคติเดิม มีการทำบุญกองกฐินซึ่งเริ่มตั้งแต่วัน แรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานครั้งก่อนนิยมเริ่มทำบุญทอดกฐินกัน ตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่า บุญเดือนสิบสอง สำหรับประชาชนที่อาศัย อยู่ตามริมฝั่งน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี จะมีการจัดส่วงเฮือ (แข่งเรือ) เพื่อระลึกถึง อุสุพญานาค ดังคำกลอนข้างต้น
บางแห่งทำบุญดอกฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผ้าห่มกันหนาวถวายพระเณร จะมีพลุตะไล จุดด้วย บางแห่งทำบุญโกนจุกลูกสาวซึ่งนิยมทำกันมากในสมัยก่อน
ประเพณีที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ เดือนอ้ายจนถึงเดือนสิบสอง ใครที่ไม่ไปช่วยงานบุญก็จะถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจ และยังไม่คบค้า สมาคมด้วย การร่วมประชุมทำบุญเป็นประจำเช่นนี้ จึงทำให้ชาวอีสานมีความสนิทสนมรักใคร่กัน ไม่เฉพาะแต่ในหมู่บ้านของตนเท่านั้น แต่ยังสร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย

               ฮีต ๑๒ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่ได้กล่าวถึงรายระเอียดปลีกย่อยต่างๆ เกี่ยวกับแต่ละฮีต เพราะว่าแต่ละท้องถิ่นก็มีความเชื่อในฮีตเดียวกันไม่ค่อยจะตรงกัน มีความแตกต่างกันในรายระเอียดปลีกย่อยอยู่พอสมควรแต่เมื่อพูดโดยภาพรวมของฮีต ๑๒ ก็เป็นไปในแนวทางอันเดียวกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

               เรื่องฮีต ๑๒ นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ฮีตหรือจารีตประเพณีบางอย่างในบางท้องถิ่นอาจจะไม่เหลือให้เห็น แต่ว่าบางท้องถิ่นก็ยังมีการรักษาปฏิบัติสืบต่อกันมาพอได้เห็นอยู่.ฯ

*********************************************************************************
คลองสิบสี่


              คลองสิบสี่ คือ ครองธรรม 14 อย่าง เป็นกรอบหรือแนวทางที่ใช้ปฏิบัติระหว่างกัน ของผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง พระสงฆ์ และระหว่างบุคคลทั่วไป เพื่อความสงบสุขร่มเย็นของ บ้านเมือง

คลองสิบสี่ที่พระเจ้าแผ่นดินจะทำต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
๑. ทรงแต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริต เคารพยำเกรงขยันหมั่นเพียร ให้เป็นอุปฮาชราชมนตรีเป็นต้น
๒. หมั่นประชุมอุปฮาช ราชมนตรี ช่วยกันบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง
๓. ทรงตั้งอยู่ในท..พิธราชธรรม ๑๐ประการ คือ
๑. บริจาคสละทรัพย์สร้างวัดวาอาราม ขุดน้ำบ่อก่อศาลาเป็นต้น
๒. ศีล ดำรงมั่นในปัญจศีลและอุโบสถศีล เป็นเนืองนิตย์
๓. บริจาคสละทรัพย์สร้างวัดวาอาราม ขุดน้ำบ่อก่อศาลาเป็นต้น
๔. อาชชวะ มีใจเที่ยงตรงดำรงมั่นในศีลธรรม
๕. มัททวะอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง
๖. ตะบะชำระความชั่วจากจิตใจ
๗. อักโกธะ ไม่ดุร้าย
๘. อวิหิงสา ไม่เบียดเบียน
๙. ขันติ อดทนต่อเหตุการณ์ต่างๆ
๑๐. อวิโรธนะ ไม่ยินดียินร้าย ในสิ่งที่ควรยินดียินร้าย
๔. ถึงวันขึ้นปีใหม่นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ และนำน้ำอบน้ำหอมมาสงภิกษุสงฆ์
๕. ถึงวันขึ้นปีใหม่ให้เสนาอามาย์นำเครื่องบรรณาการ น้ำอบน้ำหอมมามุธาภิเศกชาติของตน
๖. ถึงเดือนหก นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาต่อเจ้ามหาชีวิต
๗. ถึงเดือนเจ็ด ให้เลี้ยงมเหสักข์หลักเมือง บูชาเทวดาทั้ง ๔คือ ท้าวจาตุโลกบาล อันได้แก่ท้าวธตรัฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปัก ท้าวกุเวร
๘. ถึงเดือนแปด นิมนต์พระสงฆ์มาชำฮะบ๋าเบิกหว่านแฮ่ทรายตอกหลักบ้านเมือง
๙. ถึงเดือนเก้า ป่าวเดินให้ประชาชนทำบุญข้าวประดับดิน อุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
๑๐. ถึงเดือนสิบ ป่าวเดินให้ประชาชนทำบุญข้าวสากอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
๑๑. ถึงเดือนสิบเอ็ด ให้ประชาชนไปทำบุญออกพรรษา และไปนมัสการและมุธาภิเษกธาตุหลวง
๑๒. พอถึงเดือนสิบสอง ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมารวมที่หน้าพระลานหลวง แห่เจ้าชีวิตไปสรงน้ำในแม่น้ำ
๑๓. ให้วัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำ มีเฮือสวง วัดละหนึ่งลำขึ้นสิบสามค่ำเป็นวันสวงเฮือ
๑๔. ให้มีสมบัติคูณเมือง หรือค่าควรเมือง ครบ ๑๔อย่างคือ
๑. หูเมือง มีทูตานุทูตผู้ฉลาดมีปัญญาดี
๒. ตาเมือง มีนักปราชญ์สอนอรรถสอนธรรม
๓. แก่นเมือง มีพระสงฆ์ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย
๔. ประตูเมือง มีอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันอริราชศัตรู
๕. ฮากเมือง มีหูฮาทายเหตุร้ายและดี
๖. เหง้าเมือง มีเสนาอามาย์ผู้เที่ยงธรรม
๗. ขื่อเมือง มีโยธาทหารผู้แก่กล้า
๘. ฝาเมือง มีตากวนตาแสงผู้ซื่อสัตย์
๙. ขาง (แป) เมือง มีเจ้านายตั้งอยู่ในศีลธรรม
๑๐. เขตเมือง มีผู้ฉลาดพื้นที่ที่ตั้งเมือง
๑๑. สติเมือง มีคหบดีเศรษฐีและทวยค้า
๑๒. ใจเมือง มีแพทย์ผู้ฉลาดเชี่ยวชาญ
๑๓ คาเมือง มีภูมิภาค มีราคาค่างวด
๑๔ เมฆเมือง มีเทวดาอาฮักหลักเมือง


     คลองสิบสี่ข้อ - กฎหมายสำหรับพระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองพึงปฏิบัติ เพื่อไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดินมีความสุขร่มเย็น (ถอดออกมาจากคำกลอนโดยไม่เปลี่ยนแปลงสำนวนเดิม)

>ข้อหนึ่ง เป็นท้าวพระยาจัดตั้งแต่ง ซื่อซามนามกร เสนาอามาตย์ ราชมุนตรี พิจารณา สืบหา ผู้ซื่อผู้คด ผู้ฮ้ายผู้ดี ผู้ช่างแถลงแปงลิ้น มักสับส่อถ้อยคำอันหนักอันเบา อันน้อยอันใหญ่ ให้ไว้ในใจ นั้นก่อ สมที่จะฟัง จิ่งฟัง บ่สมที่จะฟังอย่าฟัง สมตั้ง ใจซื่อ ให้เพียงใดจิ่งตั้งใจเพียงนั้น ให้แต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริตให้หมั่นเที่ยง ผู้ฮู้จัก ราชการบ้านเมือง แต่ก่อนมา บ่มข่มเห็งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ให้หายใจเข้าออก ได้ จิ่งตั้งให้เป็นเสนาอามาตย์

>ข้อสอง เป็นท้าวพระยา ให้เนามุนตรี เป็นสามัคคีพร้อมเพียงกัน ให้หมั่นประชุมกัน อย่าให้ขาด อันใดอันหนึ่งจักให้อาณัติข้าเสิก (ข้าศึก) เกรงขาม และให้เขาอยู่ ในเงื้อมมือเจ้าตน ด้วยยุทธกรรมปัญญา ให้บ้านเมืองก้านกุ่งฮุ่งเฮือง เป็นที่ กว้างขวาง ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข อย่ากดขี่ข่มเห็ง เทอญ

>ข้อสาม เป็นท้าวพระยา เถิงวันขึ้นสังขารปีใหม่ ถ่ายสังวาสมาสเกณฑ์ ให้เชิญพระแก้ว พระบาง พระพุทธฮูป สรงน้ำอบ น้ำหอม ไว้ในสระพัง สักการะ ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ฟังธรรมจำศีล คบงัน 7 วัน ทุกๆ วัดให้เป็นการซื่นซมยินดีแก่พระศาสนา ตบพระเจดีย์ทราย บูชาเทวดาทั้งหลายทางน้ำทางบก บ้านเมืองจิ่งวุฒิซุ่มเย็น น้ำฟ้าสายฝน เข้าไฮ่เข้านาบริบูรณ์

>ข้อสี่ เป็นทางพระยา วันสังขารขึ้น ให้นิมนต์พระภิกขุ แห่น้ำฝ่ายใต้เมือฝ่ายเหนือ วันสังขารพักให้ฝ่ายเหนือมาวัดฝ่ายใต้ เพื่อบูชาเทวดา หลวงไปยามหัวเมือง ท้ายเมือง ของทุกๆ ฤดูปี บ้านเมืองจิ่งวุฒิจำเริญ ให้ราษฎรอาบน้ำอบน้ำหอม หดสรงพระภิกษุสงฆ์บ้านเมือง จิ่งอยู่เย็นเป็นสุข ให้ราษฎรแต่งหม้ออุบัง เพื่อ กั้งบังโพยภัยอันตรายแก่ราษฎรทั่วไป เทอญ

>ข้อห้า เป็นท้าวพระยา วันสังขารปีใหม่ ให้เสนาอามาตย์ ราชมุนตรี พญาเพีย ท้าวขุน หัวบ้านหัวเมือง ตำหรวดอาสา มหาดเล็กสีพายใต้แจก มีเทียนคู่ขึ้นทูนเกล้า ทูนกระหม่อมถวายราชบาส เพียกะซักมุงคุลถวายพานหมากหมั้นหมากยืน ปุโรหิตถวายพร ให้มีอายุ วัณโณ สุขัง พะลัง แก่องค์พระเจ้ามหาชีวิต แล้วเอา น้ำมหาพุทธาภิเศก อันพระรัสสิไปสถาปนาไว้ ถ้ำนกแอ่นถ้ำนางอั่น อันชื่อว่า น้ำเที่ยงนั้น แห่มาสรงพระพุทธฮูปวัดหลวง ในเมืองทุกวัด ในถ้ำติ่งทวารทวารา ที่ปากน้ำอู ประตูเมืองฝ่ายเหนือ แล้วจิ่งนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ นำบาลีพระพุทธ- ฮูป ในพระราชวังตามธรรมเนียม จิ่งเป็นอันโครพย่ำแยง แด่พระสงฆ์เจ้าถืก ต้อง ตามพระอรรถกถาจารย์ กล่าวไว้หั้นแล

>ข้อหก เป็นท้าวพระยาในวันสังขาร เป็นวันเสี้ยงฤดูเก่า ปีใหม่จักมาเถิง ให้เจ้านาย เสนา ข้าราชการ มุนตรีผู้มีนามยศ และเพียหัวหลิ่งหัวพัน หัวบ้านหัวเมือง สิบเอ็ดฮ้อยน้อยใหญ่ ซึ่งเป็นข้าน้อยขันฑสีมาตำบล เข้ามาถือน้ำพิพัฒน์ สัตยานุศัตย์ต่อพระพักตร์ พระพุทธเจ้า พระสังฆเจ้า ให้เป็นการซื่อสัตย์ ต่อ แผ่นดิน ป้องกันก่อให้ขบถคึดฮ้ายต่อแผ่นดิน

>ข้อเจ็ด ท้าวพระยา คันเถิงฤดูเดือนเจ็ด ให้เลี้ยงเทพยดาอาฮักษ์ มเหศักดิ์ หลักเมือง ตาเมือง เสื้อเมือง ทรงเมือง ตามคองสิบสี่ แล้วให้เชิญเทพดาอาฮัก มเหศักดิ์ ให้เข้ามาซำฮะบ้านเมือง ป้องกันอันตราย ตามบูฮานราชประเพณีสั่งไว้ว่า เมืองชั่วบ่มีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครอง ได้เอาไสยศาสตร์คือ ผีเมืองคุ้มครอง จิ่งมีฤทธิ์อันนี้สืบต่อมา เพื่อบ่ให้เกิดอันตรายโพยภัย ด้วยผีสางคางแดง

>ข้อแปด เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนแปด ให้สูตรซำฮะบ้านเมือง สืบซะตาเมือง บูชา เทวดาอาฮักษ์ทั้งแปดทิศ บูชาพระรัสสีทั้งแปด สองพี่น้องพระยานาค 15 ตระกูล สูตรเถิงสามวันเจ็ดวัน แล้วให้ราษฎรฮอบเมืองยิงปืน หว่านหินแห่และ ทราย เพื่อให้หายพยาธิโรคา โพยภัยอันตราย ให้อยู่เย็นเป็นสุขแก่บ้านเมือง ทุกประการ

>ข้อเก้า เป็นท้าวพระยาคันเถิงเดือนเก้า จำเริญ (ดับ) ให้ป่าวเตินราษฎรบ้านเมืองท่าน ห่อเข้าประดับดิน ไปหาปู่ย่าตายาย ลูกเต้า หลานเหลน อันเถิงแก่อนิจกรรม ไปสู่ ปรโลก ทั่วทุกแห่งแล้ว ให้เจ้านายเสนาข้าราชการ ทั่วบ้านเมืองสิบฮ้อย น้อยใหญ่ ลงมือถือน้ำพระพิพัฒนิสัยานุศัตย์อีกเทื่อหนึ่ง แล้วซ่วงเฮือฉลอง อุสุภนาคราช ปากดงและปากคาน กับพระยานาคสิบห้าตระกูล อันฮักษา บ้านเมือง จิ่งจะอยู่เย็นเป็นสุข เข้าก้าไฮ่นาบริบูรณ์

>ข้อสิบ เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนสิบเพ็งให้ป่าวราษฎร ให้ทานสลากภัตร หยาดน้ำ อุทิศไปหาเทพดาอาฮักษ์เมือง อันฮักษาพระพุทธศาสนา กับทั้งพ่อแม่เผ่าพงษ์ วงศาแห่งตนเทอญ

>ข้อสิบเอ็ด เป็นท้าวพระยา เถิงฤดูเดือนสิบเอ้ดเพ็ง ให้ฉลองพุทธาภิเศก พระธาตุจอมศรี ทุกๆ ปีอย่าขาด ด้วยเป็นศรีบ้านศรีเมือง แล้วให้ไปไหว้พระภิกษุสังฆะเจ้า มา ขอดสิม (ผูกพัทธสีมา) ในสนามแล้วให้สังฆเจ้าปวารณาในที่นั้น คันแล้วกิจ สงฆ์ ให้สูตรถอนสิมนั้นเสีย บ้านเมืองจิ่งวุฒิจำเริญ เสนาอามาตย์จิ่งจักเป็น สามัคคี พร้อมเพียงกันจัดราชการบ้านเมือง จิ่งบ่ขัดข้องแก่กันและกัน คันเถิง แฮมค่ำหนึ่ง ให้ป่าวเตินราษฎรไหลเฮือไฟ บูชาพระยานาคสิบห้าตระกูล บ้านเมืองจิ่งจักอยู่สุขเกษมเติมครองแล

>ข้อสิบสอง เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนสิบสองขึ้นหนึ่งค่ำ ให้เตินหัวบ้านหัวเมือง สิบฮ้อย น้อยใหญ่ในขอบขันฑะสีมา เข้ามาโฮมพระนครหลวงพระบาง เป็นต้นว่า ข้าลาว ชาวดงดอย เพื่อแห่พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต ไปลงพ่วง (ด่วง) ส่วงเฮือ และนมัสการพระธาตุศรีธรรมาโสกราช คือ เดือนสิบสองขึ้นสามค่ำ ถือน้ำ ขึ้นสี่ค่ำ สิบสามค่ำ ซ่วงเฮือ ฉลองอุสุภนาคราช วัดหลวงให้เพียวัด มีเฮือ วันละลำ อัครมหาเสนาบดีตั้งแต่เมืองแสนเมืองจันทน์ ลงไปเถิงศรีสะคุต เมือง แกนาใต้นาเหนือ ให้ตั้งเป็นผามทุกตำแหน่ง เป็นเทศกาลบุญส่วงเฮือ ฉลอง พระยานาค 15 ตระกูล และพระเสื้อเมือง ทรงเมือง อาฮักษ์เมือง และมีเครื่อง กิยาบูชา เป็นต้นว่า โภชนะอาหาร ดอกไม้ ธูป เทียน สวายไปหาเทพยดา ทั้ง ทางน้ำและทางบก จิ่งจักอวยพร แก่บ้านเมืองอยู่เย็นเป็สุข และเดือนสิบสอง เพ็ง เสนาอามาตย์ และเจ้าราชคณะสงฆ์ ราษฎร พร้อมกันแห่พระบาทสมเด็จ พระเจ้ามหาชีวิต และเจ้าย่ำขม่อมทั้งห้าพระองค์ไปนมัสการพระธาตุศรีธรรมา โศกราช พร้อมทั้งเครื่องบูชา มีต้นเทียนและดอกไม้ บั้งไฟดอก ไฟหาง กะทุน ว่าย กองปิด กองยาวฮูปหุ่นละคอน ลิงโขนและเครื่องเล่นมหรสพต่างๆ ไปเล่น อยู่ที่เดิ่นหน้าพระลาน พระธาตุถ้วนสามวัน สามคืนแล้ว จิ่งเสด็จคืนมาเทอญ เพื่อให้เป็นที่ชื่นชมยินดีซึ่งกันและกัน ข้าลาวชาวดอยทั้งหลาย ก็จักได้เห็นกัน และกัน และจักได้เว้าลมกัน เป็นมิตรสหายแก่กันและกัน จิ่งจักเป็นเกียรติยศ ฤชา ปรากฏแก่หัวบ้านเมืองน้อยใหญ่ อันอยู่ใกล้เคียงนั้นซะแล

>ข้อสิบสาม เป็นท้าวพระยา ให้แต่งแปงทาวทุกอย่าง เป็นต้นว่า ถวายผ้ากะฐินและบวช พระหดเจ้า ตั้งมะไลไขมหาชาติ ฮักษาศีลห้าศีลแปดเป็นนิจกาล ทุกวันอุโบสถ และมีหัวใจอันเต็มไปด้วยพรหมวิหารทั้ง 4 ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เสนาอามาตย์ ราษฎร ข้าน้อยใหญ่ ในขอบเขต ขัณฑะสีมา อย่ามีใจอันกระด้างกระเดื่อง เคืองไปด้วยพาล เป็นต้นว่า ไปหลิ้น ป่าล่าเนื้อ จุ่งเลี้ยงนักปราชญ์ผู้อาจให้แก้วยังกิจการเอาไว้ และให้มีเสนา อามาตย์ผู้ฉลาดกล้าหาญกับทั้งสมณะชีพราหมณ์ ผู้ดีมีศีลบริสุทธิ์และความฮู้ สั่งสอนทายก อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายเทอญ และให้ประกอบด้วย ท..พิธ- ราชธรรมสิบประการ บ้านเมืองจิ่งจะวุฒิจำเริญ แล

>ข้อสิบสี่ เป็นท้าวพระยาให้มีสมบัติ อันประเสริฐ 14 ประการ คือ หูเมือง ตาเมือง แก่น เมือง ประตูเมือง ฮากเมือง เหง้าเมือง ขื่อเมือง ฝาเมือง แปเมือง เขตเมือง สติเมือง ใจเมือง ค่าเมือง และเมฆเมือง

ผิดพลาดประการใดขออภัยมานะหม่องนี้ด้วยเด้อคร้าบ